คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และบุตรโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกันในสิทธิการเช่าตึกพิพาทโดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิดังกล่าวแทน ต่อมาได้มีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของ อ. เจ้าของร่วมอีกคนหนึ่ง ดังนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เพราะทั้งโจทก์และ อ. ต่างเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินพิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจองตึกแถวพิพาทจากเจ้าของกรรมสิทธิ์และได้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น หลานลงชื่อเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าไว้แต่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าสิทธิการเช่าตึกแถวเป็นของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ลงในรายการจดทะเบียนถือสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางอุษา มารดาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท นางอุษา จะใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าแต่ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงตกลงให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ทำสัญญากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปก่อนจนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าตึกแถวให้จำเลยที่ 2เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ลงในรายการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สิทธิการเช่าตึกพิพาทตามฟ้องโจทก์และบุตรของโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิดังกล่าวแทนต่อมาได้มีการโอนเป็นชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของนางอุษา เจ้าของร่วมอีกคนหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าดังกล่าว เพราะทั้งโจทก์และนางอุษา ต่างเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินพิพาท
พิพากษายืน.

Share