คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. การขนส่งทางบกฯ มาตรา 4 ไม่ใช้ บังคับแก่ การขนส่งโดย รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัมรถยนต์บรรทุกของจำเลยมีน้ำหนัก 1,050 กิโลกรัม จึงไม่เป็นรถที่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. การขนส่งทางบกฯ ดังนี้จำเลยนำรถคันนั้นมาใช้ รับจ้างบรรทุกขนส่งคนโดยสาร ก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบกฯ มาตรา 23 ประกอบด้วย มาตรา 126.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136,91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 14, 21, 42, 60, 66 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2527 มาตรา 7 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 23, 126
จำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาใช้รถยนต์ผิดประเภทและประกอบการขนส่งประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาอื่นจำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 1,000 บาทฐานเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 14, 60 ปรับ 600 บาท ฐานขับรถไม่แสดงใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 ปรับ 200 บาทฐานขับรถไม่แสดงใบคู่มือจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 42, 66 ปรับ 200 บาท รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ และประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 60 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 อันเป็นบทหนักจำคุก 6เดือน ปรับ 20,000 บาท รวมเป็นจำคุก 7 เดือน ปรับ 21,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56มีกำหนด 2 ปี บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานใช้รถยนต์ไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ และฐานประกอบการขนส่งประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 21 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้รถยนต์โดยสารขนาดเล็กของจำเลยรับจ้างบรรทุกขนส่งคนโดยสาร อันเป็นการใช้รถบรรทุกส่วนบุคคลที่เปลี่ยนแปลงเป็นรถยนต์สาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…
คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 มาตรา 4บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
(1) ฯลฯ
(2) การขนส่งโดย ฯลฯ รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน1,600 กิโลกรัม ฯลฯ” ดังนั้น เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยมีน้ำหนักเพียง 1,050 กิโลกรัม ดังที่ได้ความข้างต้น จึงไม่เป็นรถที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แม้จำเลยจะนำรถคันนั้นมาใช้รับจ้างบรรทุกขนส่งคนโดยสาร การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งบางบก พ.ศ. 2522มาตรา 23 ประกอบด้วยมาตรา 126…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ประกอบด้วยมาตรา 60 ให้ปรับ 1,000 บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share