คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 2 รายการ คือ หนี้ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าถังแก๊สเปล่า กับหนี้ตาม สัญญารับฝากและจำนำสินค้าวาล์ว ถังแก๊ส ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ ตกลง ให้โจทก์ขายถังแก๊สรวม 1064 ท่อโดย ให้โจทก์ยกหนี้ค้างชำระหมดไป และจำเลยที่ 1 จะเอาเงินมาไถ่ถอนวาล์ว ถังแก๊ส 60 หีบ เป็นเงิน 272,701 บาท โดย โจทก์จะไม่คิดค่าดอกเบี้ย และค่ารักษา การที่บันทึกข้อตกลงการชำระหนี้ได้ แยกหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็น 2 รายการโดย ชัดแจ้งแยกต่างหากจากกันเช่นนี้ ถือ ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขการชำระหนี้ เมื่อโจทก์ยอมรับเอาสินค้าถังแก๊สเปล่าไปขายเป็นการชำระหนี้ หนี้เฉพาะ รายการนี้ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคแรก แต่ หาทำให้หนี้ตาม สัญญารับฝากและจำนำสินค้าวาล์ว ถังแก๊สระงับไปด้วย แต่ อย่างใดไม่ ถ้าหากคู่กรณีมีเจตนาจะให้หนี้ทั้งสองรายการระงับไปด้วย กันแล้ว ก็ไม่น่าจะมีการแยกประเภทหนี้สินค่าถังแก๊สเปล่าไว้ส่วนหนึ่ง และหนี้สินค้าวาล์ว ถังแก๊สไว้อีกส่วนหนึ่ง เมื่อจำเลยยังมิได้นำเงินมาไถ่ถอนวาล์ว ถังแก๊ส หนี้สินค้าวาล์ว ถังแก๊สจึงยังไม่ระงับสิ้นไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2521 และวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 1 ได้นำสินค้าวาล์วถังแก๊ส จำนวน 60หีบ และ 14 หีบ ไปฝากไว้กับโจทก์ตกลงจะชำระค่าบำเหน็จตามอัตราที่โจทก์กำหนด ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 1ได้จำนำสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์เป็นเงินจำนวน 517,000 บาทตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนหากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับจำนำได้ทันที จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากการจำนำสินค้าไปแล้ว และสลักหลังประทวนสินค้าที่ฝากให้โจทก์ไว้ จำเลยที่ 3 ได้ค้ำประกันในการจำนำสินค้าดังกล่าวโดยยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้จำเลยที่ 1ยังได้นำสินค้าถังแก๊สเปล่าจำนวน 1,000 ท่อไปฝากไว้กับโจทก์อีกตกลงชำระค่าบำเหน็จตามอัตราที่โจทก์กำหนด ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม2522 จำเลยที่ 1 ได้จำนำสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์เป็นเงินจำนวน1,200,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผิดนัดยอมให้บังคับจำนำได้ทันที จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากการจำนำสินค้าไปแล้ว และสลักหลังประทวนสินค้าที่ฝากให้โจทก์ไว้ในการจำนำสินค้าถังแก๊สเปล่านี้จำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 3 ได้ตกลงเข้าค้ำประกันโดยยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ฝากสินค้าและจำนำสินค้าดังกล่าวข้างต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนสินค้าไปบางส่วน แต่คงค้างชำระค่ารักษาทรัพย์และดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2524 เป็นต้นมา โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ครั้นวันที่ 8 ตุลาคม 2526 โจทก์ได้ขายทอดตลาดสินค้าถังแก๊สเปล่าที่จำเลยที่ 1 นำมาฝากและจำนำไว้กับโจทก์ส่วนที่เหลือจำนวน859 ท่อ ได้เงิน 1,288,500 บาท และในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2526โจทก์ได้ขายทอดตลาดสินค้าวาล์วถังแก๊สที่จำเลยที่ 1 ฝากและจำนำไว้กับโจทก์ส่วนที่เหลือจำนวน 60 หีบ ได้เงิน 240,000 บาทเมื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหักชำระหนี้อุปกรณ์ก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์อยู่จำนวน 242,813 บาทจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ฝากและผู้จำนำ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างจำเลยที่ 1 และในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ถึงวันฟ้องหนี้ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าถังแก๊สเปล่าดอกเบี้ยเป็นเงิน 17,341 บาท รวมทั้งต้นเงินเป็นเงินจำนวน 145,061 บาท หนี้ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าวาล์วถังแก๊สดอกเบี้ยเป็นเงิน 31,133 บาท รวมทั้งต้นเงินเป็นเงิน 273,946 บาท รวมหนี้ 2 รายการ เป็นเงิน 419,007 บาทขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 419,007 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 127,720 บาทและอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 242,813 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นโมฆะทั้งหมด เพราะความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ21-22 ต่อปี เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หลังจากจำเลยฝากและจำนำสินค้าไว้กับโจทก์แล้ว จำเลยค้างชำระค่ารักษาทรัพย์และดอกเบี้ยโจทก์อยู่เป็นจำนวนมาก โจทก์ได้แนะนำให้จำเลยขายสินค้าที่จำนำไว้เสีย หากขายในขณะนั้นจะมีเงินเหลือนำมาเบิกสินค้าวาล์วถังแก๊สออกไปขายได้ ถ้าจำเลยไม่สามารถขายได้เอง โจทก์จะช่วยขายให้โดยให้จำเลยลงชื่อไว้ในใบเบิกสินค้า (ที่ถูกใบรับฝากสินค้า) ทั้งหมด จำเลยจึงได้ลงชื่อในใบเบิกสินค้าทั้งหมดมอบให้โจทก์ไป โดยโจทก์ทำบันทึกฉบับลงวันที่ 14/6/2526 ให้จำเลยเป็นหลักฐานไว้ หลังจากนั้นโจทก์ได้ขายทอดตลาดสินค้าถังแก๊สเปล่าที่จำเลยฝากและจำนำไว้กับโจทก์ไป แต่โจทก์ไม่ได้มีจดหมายบอกกล่าวให้จำเลยทราบเวลาและสถานที่ขายทอดตลาดการขายทอดตลาดจึงไม่ชอบ และขายได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาในท้องตลาดมาก โจทก์จะนำเงินที่ขายทอดตลาดได้มาหักกับหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่ได้ โจทก์กระทำผิดข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าว เพราะเมื่อจำเลยตกลงให้โจทก์ขายถังแก๊สแล้ว โจทก์ตกลงยกหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด โจทก์จำเลยจึงไม่มีหนี้สินผูกพันต่อกันที่จำเลยที่ 1 จำนำสินค้าวาล์วถังแก๊สและสินค้าถังแก๊สเปล่าไว้กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ได้สลักหลังโอนสินค้าทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้วในวันเดียวกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านั้นได้โอนไปเป็นของโจทก์ทั้งหมดแล้วสัญญาจำนำสินค้าทั้งหมดจึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จในการเก็บรักษาสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 36,399.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลเพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวมหนึ่งพันบาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ทำการเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2521 และวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 1 ได้นำสินค้าวาล์วถังแก๊สจำนวน 60 หีบและ 14 หีบ ไปฝากไว้กับโจทก์ ตกลงชำระค่าบำเหน็จตามอัตราที่โจทก์กำหนด ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 1 ได้จำนำสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์เป็นเงิน 517,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับจำนำได้ทันที มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏตามสัญญาจำนำสินค้าเอกสารหมาย จ.5 และวันที่ 23 สิงหาคม 2522 จำเลยที่ 1ได้จำนำสินค้าถังแก๊สเปล่าจำนวน 1,000 ท่อ ที่ฝากไว้กับโจทก์เป็นเงิน 1,200,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับจำนำได้ทันที มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏตามสัญญาจำนำสินค้าเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนสินค้าไปบางส่วนค้างชำระค่ารักษาทรัพย์และดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2524เป็นต้นมา วันที่ 14 มิถุนายน 2526 นายอนุชิต จิโรจโชติชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงเรียกจำเลยที่ 2 มาตกลงเรื่องหนี้สินแล้วแนะนำให้ขายสินค้าที่ฝากและจำนำไว้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้โดยให้จำเลยมอบสินค้าให้โจทก์ ซึ่งขณะนั้นมีสินค้าถังแก๊สเปล่าจำนวน 1,064 ท่อ และสินค้าวาล์วถังแก๊สจำนวน 60 หีบ จำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อในใบเบิกสินค้า (ใบรับฝากสินค้า) ทั้งหมดให้โจทก์แล้วนายอนุชิตได้ทำบันทึกมีข้อความว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดยุทธโลหะภัณฑ์ (1) ได้ตกลงให้ขายท่อแก๊สรวม 1,065 ท่อ โดยให้ยกหนี้ค้างชำระหมดไป (2) จะเอาเงินมาเบิกวาล์ว 60 หีบ เป็นเงิน272,701 บาท โดยทางบริษัทฯ จะไม่คิดค่าดอกเบี้ยและค่ารักษา”ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามเพียงว่า หนี้ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าวาล์วถังแก๊สจำนวน 60 หีบ เป็นเงิน 272,701 บาท ระงับไปหรือไม่ เห็นว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ฝากสินค้าและจำนำสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนสินค้าไปบางส่วน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 2 รายการ คือ หนี้ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าถังแก๊สเปล่า และหนี้ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าวาล์วถังแก๊ส ในบันทึกข้อตกลงการชำระหนี้เอกสารหมาย ล.1 ก็ได้แยกหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็น 2 รายการ โดยชัดแจ้ง แยกต่างหากจากกัน คือ (1) เป็นข้อตกลงเรื่องขายท่อแก๊ส (2) เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสินค้าวาล์วถังแก๊ส ย่อมเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไขการชำระหนี้เอาไว้ เมื่อโจทก์ยอมรับเอาสินค้าถังแก๊สเปล่าไปขายเป็นการชำระหนี้ จึงถือว่าหนี้เฉพาะรายการนี้เป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคแรก แต่หาทำให้หนี้ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าวาล์วถังแก๊สระงับไปด้วยแต่อย่างใดไม่ หากคู่กรณีมีเจตนาจะให้หนี้ทั้ง 2 รายการระงับไปด้วยกันแล้ว ก็ไม่น่าจะมีการแยกประเภทหนี้สินค้าถังแก๊สเปล่าไว้ส่วนหนึ่งและหนี้สินค้าวาล์วถังแก๊สไว้อีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้นบันทึกเอกสารหมาย ล.1 จึงฟังได้ว่าในวันที่ 14มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญารับฝากและจำนำสินค้าวาล์วถังแก๊สเพียงรายการเดียวเป็นเงิน 272,701 บาทซึ่งจำเลยจะต้องนำเงินจำนวนนั้นมาไถ่ถอน เมื่อจำเลยยังมิได้นำเงินมาไถ่ถอน หนี้สินค้าดังกล่าวจึงยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์บังคับจำนำโดยขายทอดตลาดสินค้าแล้วนำเงินมาหักกับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นการไม่ชอบ เพราะคู่กรณีไม่มีความประสงค์จะให้ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้นั้น เห็นว่า หลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ไปติดต่อกับโจทก์เลย โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนำโดยกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินไปชำระหนี้โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วในวันเดียวกัน ตามสำเนาหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.6, จ.8 แต่จำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำสินค้าวาล์วถังแก๊สออกขายทอดตลาดเอาเงินมาหักกับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ได้โดยชอบ โดยโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งวันเวลาและสถานที่ขายทอดตลาดให้จำเลยทราบแล้ว ตามสำเนาหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.19ถึง จ.23 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share