แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สินค้าตาม ฟ้องมิได้ขาดหายไปในระหว่างการขนส่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย แต่ หายไปในระหว่างที่เก็บอยู่ในโรงพักสินค้าของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากที่ผู้รับตราส่งได้ชำระค่าระวางและรับใบสั่งปล่อยสินค้าจากจำเลย อันถือ ได้ ว่าจำเลยได้ จัดส่งสินค้าถึง การท่าเรือปลายทาง และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ รับมอบสินค้าไว้จากจำเลยครบถ้วนตาม ระเบียบและการปฏิบัติในการรับสินค้าแล้ว หน้าที่การขนส่งสินค้าของจำเลยย่อมสิ้นสุดลง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อ โจทก์ โจทก์ฟ้องว่าสินค้าได้ ขาดหายไปในระหว่างการขนส่งที่จำเลยเป็นผู้รับขนจำเลยให้การว่าสินค้ามิได้ขาดหายไปในระหว่างขนส่งของจำเลย ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า “จำเลยเป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าร่วมในทอดสุดท้ายจากประเทศ สิงคโปร์ มาประเทศ ไทย ซึ่ง จะต้อง รับผิดต่อ โจทก์ตาม ฟ้องเพียงใดหรือไม่”ดังนี้ การที่จำเลยนำสืบว่าสินค้าตาม ฟ้องได้ ขาดหายไปในระหว่างเก็บอยู่ในระหว่างเก็บอยู่ในโรงพักสินค้าของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย นั้น จึงเป็นการนำสืบเพื่อให้เห็นว่าสินค้ามิได้ขาดหายในระหว่างขนส่งตาม ข้อต่อสู้ของจำเลยนั้นเองหาเป็นการนอกคำให้การและนอกประเด็นไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526ห้างหุ้นส่วนจำกัดเท่งกวงพานิช ได้สั่งสินค้าแหวนลูกสูบรถยนต์ยี่ห้อเกิ้ทเซ่ จากบริษัทเกิ้ทเซ่ เอจี ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีจำนวน 680 ชุด ซึ่งบริษัทเกิ้ทเซ่ เอจี ได้ว่าจ้างสายเดินเรือโอเรียนโอเวอร์ซีส์คอนเทนเนอร์ไลน์ ให้เป็นผู้ขนส่ง โดยบรรจุสินค้าในกล่องกระดาษแข็ง รวม 5 กล่อง ขนส่งทางทะเลโดยเรือไชน่าคอนเทนเนอร์ เมื่อเรือลำดังกล่าวเดินทางมาถึงประเทศสิงคโปร์ได้มีการขนถ่ายสินค้าลงเรือธนะภูมิเพื่อทำการขนส่งมายังประเทศไทยโดยมอบหมายให้จำเลยทำการขนส่งสินค้าร่วมอีกทอดหนึ่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดเท่งกวงพานิช ได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่ง ตั้งแต่สินค้าออกจากคลังสินค้าของผู้ขายจนกระทั่งสินค้าถึงคลังสินค้าของผู้ซื้อไว้กับโจทก์ในวงเงิน 349,419 บาท ต่อมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2526 เรือธนะภูมิได้เข้าเทียบท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือแล้ว ได้มีการสำรวจความเสียหายของสินค้า ปรากฏว่ากล่องที่บรรจุสินค้าทั้ง 5 กล่องมีรอยถูกเปิด สินค้าแหวนลูกสูบรถยนต์ได้สูญหายไปคิดเป็นเงิน 181,390.05 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดเท่งกวงพานิชได้เรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้จากจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ยอมชำระให้ จึงขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน181,390.05 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งร่วมกับสายเดินเรือโอเรียนท์โอเวอร์ซีส์คอนเทนเนอร์ไลน์ จำเลยเป็นแต่เพียงตัวแทนเรือผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลเท่านั้น การขนส่งสินค้ารายพิพาทนี้ เป็นการขนส่งโดยวิธีบรรจุสินค้าลงในตู้คอนเทนเนอร์ ผู้รับขนสินค้าคือสายเดินเรือโอเรียนท์โอเวอร์ซีส์คอนเทนเนอร์ไลน์รับมอบสินค้ามาเป็นหีบหรือกล่องปิดผนึกผู้รับขนไม่มีโอกาสได้ตรวจว่าข้างในมีสินค้าใดบรรจุอยู่และมีจำนวนกี่ชุด สินค้ามิได้ขาดหาย ถ้าสินค้าขาดไปก็เป็นเพราะผู้ส่งไม่ได้บรรจุสินค้าจำนวนนั้นลงไว้ หรืออาจตกหล่นอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เพราะตู้คอนเทนเนอร์อยู่ในสภาพเรียบร้อยมีตราประทับผนึกอยู่ไม่ชำรุดเสียหายมาตั้งแต่ต้นทางถึงท่าเรือกรุงเทพ ตามข้อกำหนดในใบตราส่ง ข้อ 6(3) และ 4 กำหนดให้ผู้รับขนส่งรับผิดในความสูญหายเสียหายแก่สินค้าไว้ไม่เกิน 2 เหรียญสหรัฐต่อสินค้าน้ำหนัก 1กิโลกรัม เมื่อสินค้าสูญหายไป 103 กิโลกรัม จำเลยก็ควรจะรับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 206 เหรียญสหรัฐหรือ 4,779.20 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 181,390.05 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2526เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าสินค้าตามฟ้องได้ขาดหายไปในระหว่างขนส่งจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีมาถึงท่าเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือไม่ คู่ความนำสืบรับกันว่า ตามทางปฏิบัติของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ถ้าปรากฏว่ากล่องบรรจุสินค้าที่นำออกจากตู้คอนเทนเนอร์อยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและตัวแทนเรือจะต้องหมายเหตุไว้ในเอกสาร “รายการขนสินค้าจากเรือ”และจะต้องนำสินค้านั้นไปเก็บไว้ในห้องเก็บสินค้าชำรุดทันที แต่ถ้ากล่องบรรจุสินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยพิรุธว่าจะมีความเสียหายหรือสูญหายก็นำสินค้านั้นไปเก็บที่โรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย คู่ความนำสืบโต้เถียงกันว่า สินค้าตามฟ้องเมื่อนำออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์แล้วได้นำไปเก็บไว้ในห้องเก็บสินค้าชำรุดหรือนำไปเก็บในโรงพักสินค้า โดยฝ่ายโจทก์มีนายวิรัชจงสุวรรณ เจ้าหน้าที่สำรวจสินค้าที่ได้รับความเสียหายของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเบิกความว่า เรือธนะภูมิเป็นเรือที่ขนส่งสินค้าตามฟ้องเข้ามาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2526 มีการขนถ่ายสินค้าที่มาจากเรือลำนี้เข้าเก็บในห้องเก็บสินค้าชำรุดเพราะเทปที่ปิดบนกล่องบรรจุสินค้าเป็นเทปใหม่พยานสงสัยว่ากล่องจะถูกเปิดมาก่อน ฝ่ายจำเลยมีนายสมภพ ชัยกล พนักงานปฏิบัติการสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่จดรายการสินค้าที่มากับเรือเบิกความว่าพยานเป็นผู้ตรวจนับกล่องบรรจุสินค้าตามฟ้องในขณะที่นำออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์และพยานเป็นผู้จดรายการสินค้าในเอกสารรายการขนสินค้าจากเรือเอกสารหมาย ล.7 เห็นกล่องบรรจุสินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อย จึงไม่ได้หมายเหตุว่ามีการชำรุดเสียหายไว้ในเอกสารหมาย ล.7 แล้วส่งสินค้าไปเก็บที่โรงพักสินค้า ได้พิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์และของพยานจำเลยดังกล่าวแล้ว เห็นว่า คำเบิกความของนายสมภพพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จดรายการสินค้าที่มาจากเรือโดยตรงและเป็นผู้ตรวจนับกล่องบรรจุสินค้าตามฟ้องในขณะที่นำออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์ทั้งเป็นผู้ทำเอกสารรายงานการขนสินค้าจากเรือตามเอกสารหมาย ล.7มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าคำเบิกความของนายวิรัชพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเพียงผู้สำรวจสินค้าในกล่องในภายหลังไม่ปรากฏว่านายวิรัชมีหน้าที่ตรวจสินค้าในขณะที่นำออกจากตู้คอนเทนเนอร์ จึงไม่น่าเชื่อว่านายวิรัชจะเห็นที่กล่องบรรจุสินค้ามีเทปใหม่ปิดอยู่ในขณะที่นำออกจากตู้คอนเทนเนอร์และถ้าหากเทปที่ปิดกล่องเป็นเทปใหม่ในขณะที่นำออกจากตู้คอนเทนเนอร์จริงแล้ว นายสมภพและตัวแทนเรือจะต้องเห็นและหมายเหตุไว้ในเอกสารหมาย ล.7 การที่นายสมภพมิได้หมายเหตุไว้ในเอกสารหมาย ล.7 แสดงว่ากล่องบรรจุสินค้าในขณะที่นำออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีร่องรอยพิรุธดังนายวิรัชเบิกความ ที่นายวิรัชเบิกความว่าเมื่อนำสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์แล้วนำไปเก็บในห้องสินค้าชำรุดนั้นก็ไม่น่าเชื่อ เพราะเมื่อไม่ปรากฏหมายเหตุในเอกสารหมาย ล.7 ว่า กล่องบรรจุสินค้ามีพิรุธแล้วจะนำไปเก็บในห้องสินค้าชำรุดได้อย่างไร ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้ฟังได้ตามคำเบิกความของนายสมภพว่า สินค้าตามฟ้องเมื่อนำออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์แล้วได้นำไปเก็บในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อนำออกมาจากโรงพักสินค้าจึงพบว่าเทปที่ปิดกล่องบรรจุสินค้าเป็นเทปใหม่ แล้วจึงนำไปเก็บในห้องเก็บสินค้าชำรุดและให้นายวิรัชเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าในกล่อง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า สินค้าตามฟ้องมิได้ขาดหายไปในระหว่างการขนส่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย แต่ได้หายไปในระหว่างที่เก็บอยู่ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หลังจากที่ผู้รับตราส่งได้ชำระค่าระวางและรับใบสั่งปล่อยสินค้าจากจำเลย อันถือได้ว่าจำเลยได้จัดส่งสินค้าดังกล่าวถึงท่าเรือปลายทางและการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้รับมอบสินค้าไว้จากจำเลยครบถ้วนตามระเบียบและการปฏิบัติในการรับสินค้าแล้ว หน้าที่ขนส่งสินค้าของจำเลยจึงสิ้นสุดลงซึ่งคู่ความนำสืบรับกันแล้วว่า ในกรณีเช่นนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สินค้าตามฟ้องได้ขาดหายไปในระหว่างที่เก็บอยู่ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า สินค้าได้ขาดหายไปในระหว่างเก็บอยู่ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทแห่งคดีที่ศาลอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำให้การของจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่าสินค้ามิได้ขาดหาย และศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นพิพาทไว้ในข้อ 2 ว่า จำเลยเป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าร่วมในทอดสุดท้ายจากประเทศสิงคโปร์มาประเทศไทยซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องเพียงใดหรือไม่ ซึ่งในข้อที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องเพียงใดหรือไม่นี้ ย่อมรวมถึงการนำสืบในข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าได้ขาดหายไปในระหว่างการขนส่งหรือไม่ด้วย เพราะโจทก์ฟ้องว่าสินค้าได้ขาดหายไประหว่างการขนส่งจำเลยให้การว่ามิได้ขาดหายไป ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าสินค้าตามฟ้องได้ขาดหายไปในระหว่างเก็บอยู่ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น ก็เป็นการนำสืบเพื่อให้เห็นว่าสินค้ามิได้ขาดหายในระหว่างขนส่งตามข้อต่อสู้ของจำเลยในคำให้การนั่นเอง หากเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นไม่ และการที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังโจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.