แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เช็ค พิพาทจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายระบุชื่อ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเงินโดย ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ”ออก และด้านหน้าบนซ้าย ของเช็ค มีตราประทับเป็นภาษาอังกฤษว่า”เอ/ซีเพอี้โอนลี่” แสดงว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ จำเลยที่ 3 จะต้องนำเข้าบัญชีของตน จำเลยที่ 3 จะโอนเช็ค พิพาทให้โจทก์ได้ แต่ โดยรูปการและด้วย ผลอย่างการโอนหนี้สามัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 917วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 989 และการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเช็ค พิพาทตาม สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลโดย มิให้โอนกันอย่างการโอนสามัญ ดังนี้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งมีจำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยที่ 3 เป็นผู้อาวัล โจทก์นำเช็คนั้นเรียกเก็บจากธนาคารตามเช็คแล้วไม่ได้รับชำระเงินขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 107,417.80 บาทพร้อมดอกเบี้ย…
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่จำเลยที่ 3โดยเฉพาะและมีคำสั่งห้ามโอน การที่จำเลยที่ 3 โอนเช็คพิพาทแก่โจทก์โดยมิใช่รูปการอย่างการโอนสามัญจึงไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่ได้ให้ความยินยอมในการโอนเป็นหนังสือ ทั้งโจทก์มิได้แจ้งการโอนให้จำเลยที่ 2 ทราบเป็นหนังสือ ดังนั้น จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้
ก่อนจำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาจากนางดวงใจ ปุณณรัตน์จำเลยที่ 3 เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 55/2527 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา(อำเภอปากช่อง) และศาลได้พิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว เช็คพิพาทเป็นเช็คของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากช่อง ฉบับเลขที่045595 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2527 จำนวนเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายระบุชื่อนางดวงใจ ปุณณรัตน์จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเงิน โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกและด้านหน้าบนซ้ายของเช็คมีตราประทับเป็นอักษรภาษีอังกฤษว่า”เอ/ซี เพอี้ โอนลี่” (A/C PAYEE ONLY) ปรากฏตามเอกสารหมายจ.1 เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 ปัญหามีว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คพิพาทในลักษณะดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเปลี่ยนมือไม่ได้ จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับเงินจะต้องแก้ไขบัญชีของตน อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 3จะโอนเช็คพิพาทให้โจทก์ได้ก็แต่โดยรูปการด้วยผลอย่างการโอนสามัญดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสองประกอบมาตรา 989 การโอนสามัญก็คือการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่าการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้จะปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่55/2527 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอปากช่อง) ว่า นางสาวดวงใจจำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 3ยอมชำระหนี้ในคดีนั้นให้โจทก์ด้วยเช็คพิพาท และศาลได้พิพากษาตามยอมจนคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งการโอนเช็คพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทราบเป็นหนังสือ หรือจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการโอนเช็คพิพาทดังกล่าวแต่ประการใด โจทก์จึงไม่อาจยกการโอนเช็คพิพาทดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2ผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นผู้เขียนข้อความทำนองเปลี่ยนมือไม่ได้จำเลยที่ 1ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์…”
พิพากษายืน.