คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาที่จำเลยจ้าง โจทก์ให้ว่าความ กำหนดค่าจ้างว่าความส่วนที่ยังมิได้ชำระเป็นจำนวนเงินสิบเปอร์เซ็นต์ ของเงินที่จำเลยจะได้ รับจากการฟ้องแย้ง เป็นสัญญารับจ้างว่าความโดย วิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้ แก่ลูกความ อันมีวัตถุประสงค์ขัดต่อ พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2508 มาตรา 41 ประกอบพ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2477 มาตรา 12(2) จึงตกเป็นโมฆะตามป.พ.พ. มาตรา 113 ดังนี้ แม้ต่อมาจะได้ มี พ.ร.บ. ทนายความพ.ศ. 2528 ยกเลิกกฎหมายข้างต้นแล้ว และตาม บทเฉพาะกาล มาตรา 86 ของพ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความตาม มาตรา 53 ซึ่ง มิได้มีการกำหนดเรื่องค่าจ้างการว่าความไว้ ก็ไม่ทำให้สัญญาซึ่ง เป็นโมฆะแต่ ต้น กลับสมบูรณ์ขึ้นดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างว่าความที่เหลือจากจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2523 จำเลยถูกบริษัทก่อสร้างสหพันธ์ จำกัด กล่าวหาว่าจำเลยทำงานล่าช้าผิดสัญญาว่าจ้างจำเลยมอบให้โจทก์เป็นทนายความต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าว เป็นเงิน 2,465,610 บาท ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 10184/2526 ของศาลชั้นต้น นับแต่โจทก์เข้าเป็นที่ปรึกษาดำเนินการต่อสู้คดีและฟ้องแย้งไปแล้ว จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าทนายความและค่าปรึกษาให้แก่โจทก์ จนกระทั่งวันที่ 4 พฤษภาคม 2524 จำเลยจึงทำสัญญากับโจทก์ว่าจะจ่ายค่าทนายความให้โจทก์เป็นเงิน 280,000 บาทจำเลยจะจ่ายให้โจทก์ในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นก่อนเป็นเงิน 30,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 250,000 บาท จะจ่ายให้เมื่อคดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2524 จำเลยจึงจะจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาท ให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ว่าความให้จำเลยจนศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 360,000 บาทกับค่าของอีก 13,260บาทตามฟ้องให้แก่บริษัทก่อสร้างสหพันธ์ จำกัด สำหรับค่าเสียหายจำนวน 1,953,690 บาท ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย โจทก์ทำอุทธรณ์เสร็จก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ แต่ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ตั้งทนายความคนใหม่ให้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2526อันเป็นวันสุดท้ายของอายุความอุทธรณ์ โดยเอาอุทธรณ์ของโจทก์ไปให้ทนายความคนใหม่คัดลอก การกระทำของจำเลยเป็นการเจตนาเลิกจ้างโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างว่าความตามผลงานที่โจทก์ได้ทำให้แก่จำเลยไปแล้วตามส่วนงานที่โจทก์จะต้องทำคงเหลือเพียงชั้นฎีกาเท่านั้น คิดเป็นงานที่โจทก์ทำไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ค่าจ้างทั้งหมด280,000 บาท โจทก์จึงควรได้รับค่าจ้างจากจำเลย 252,000 บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว 30,000 บาท จึงต้องจ่ายให้โจทก์อีก 222,000 บาทแต่โจทก์ขอคิดเพียง 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ความจริงจำเลยจ้างโจทก์ต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจำนวน 2,465,610 บาท ตกลงจ่ายค่าจ้างว่าความฟ้องคดี30,000 บาท ค่าว่าความอีกส่วนหนึ่งจะคิดจากจำเลย 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่จำเลยจะได้รับจากการฟ้องแย้ง เมื่อจำเลยได้รับเงินแล้วจะต้องจ่ายค่าทนายความให้โจทก์ทันทีโดยไม่คำนึงว่าคดีจะเสร็จลงด้วยประการใด หากจำเลยแพ้คดีโจทก์จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้คดีดังกล่าวปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้ง จำเลยไม่ได้รับเงิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจากจำเลย ข้อตกลงจ้างว่าความในคดีดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะเป็นการแบ่งส่วนมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่เรียกร้องได้ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็นให้ถือตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นข้อตกลงในการว่าความนั้นไม่ชอบ เพราะตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยไม่ได้ตกลงด้วยจำเลยเพิ่งมาตกลงด้วยตามเอกสารหมาย จ.10 เนื่องจากเมื่อโจทก์ทำเอกสารหมาย ล.2 ลงวันที่ 15 มกราคม 2524 ถึงจำเลยแจ้งว่าจะต้องยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในวันรุ่งขึ้น จำเลยจ่ายแต่เงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามฟ้องแย้งให้โจทก์ ไม่ยอมจ่ายค่าทนายความ 30,000บาทให้โจทก์ รุ่งขึ้นวันที่ 16 มกราคม 2524 โจทก์จึงทำสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย ล.1 ไปให้จำเลยลงชื่อรับทราบข้อตกลงไว้ จำเลยไม่ยอมลงชื่อและส่งสัญญาดังกล่าวกลับมาให้โจทก์ จนกระทั่งวันที่4 พฤษภาคม 2524 โจทก์จึงทำสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.10 ให้จำเลยลงชื่อไว้ แล้วจำเลยจ่ายเงิน 30,000 บาท ให้โจทก์ เมื่อวันที่6 กรกฎาคม 2524 ตามเอกสารหมาย จ.12 แสดงว่าจำเลยเจตนาถือเอาเอกสารหมาย จ.10 เป็นสัญญาจ้างว่าความโดยจำเลยทราบข้อตกลงตามเอกสารหมายจ.10 แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยตกลงจ้างโจทก์ว่าความตามเอกสารหมายล.2 ซึ่งให้คิดค่าจ้างว่าความส่วนที่เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่จะได้รับจากการฟ้องแย้งสัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.10เป็นสัญญามีเงื่อนไขบังคับก่อน จะมีผลเมื่อเงื่อนไขสำเร็จลงแล้วคือ จำเลยจะจ่ายค่าจ้างว่าความที่เหลือให้โจทก์ก็ต่อเมื่อจำเลยได้รับเงินแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทำคดีต่อไปจนถึงที่สุด ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำให้เงื่อนไขบังคับก่อนไร้ผลและเป็นการเลิกจ้างว่าความ โจทก์ได้ทำงานไปแล้วถึง 90 เปอร์เซ็นต์จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าจ้างว่าความที่เหลือตามผลงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้วจำนวนเงินตามฟ้อง สัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.10 เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย เงื่อนไขในสัญญาไม่เป็นโมฆะ เพราะได้ระบุจำนวนค่าจ้างว่าความทั้งสิ้น 280,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนแน่นอน จำเลยถูกบริษัทก่อสร้างสหพันธ์ จำกัด ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจำนวน1,953,690 บาท ค่าสิ่งของที่ทดรองจ่ายไปก่อนจำนวน 13,260 บาท และเงินที่จ่ายล่วงหน้าจำนวน 360,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายที่จำเลยฟ้องแย้งจำนวน 2,465,610 บาท ทุนทรัพย์ในคดีดังกล่าวจึงเท่ากับ 4,792,560 บาท ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสารหมาย ล.2 ลงวันที่15 มกราคม 2524 ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทำขึ้นและมีไปถึงจำเลย ได้อ้างถึงข้อตกลงที่โจทก์ได้ตกลงกับนายคอร์ทเนย์ชาร์พ อคอสตา กรรมการผู้จัดการของจำเลยไว้ คือ
1. ค่าธรรมเนียม 2.5 เปอร์เซ็นต์ของทุนทรัพย์ที่ฟ้อง
2. ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวม 2,500 บาท
3. ค่าทนายความเมื่อฟ้อง 30,000 บาท
4. ค่าทนายความอีกส่วนหนึ่งจะคิดเมื่อได้รับเงินจำนวน 10เปอร์เซ็นต์ของที่ได้รับ (หมายความว่า ถ้าคดีแพ้โจทก์ก็ไม่ได้รับเงินด้วย) ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาจ้างว่าความลงวันที่ 16 มกราคม2524 เอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ทำขึ้นส่งไปให้จำเลยลงชื่อ แต่จำเลยไม่ได้ลงชื่อ กับตามสัญญาจ้างว่าความลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2524เอกสารหมาย จ.10 ที่โจทก์ทำขึ้นส่งไปให้จำเลยลงชื่อ และจำเลยได้ลงชื่อไว้แล้ว มีใจความเหมือนกันทุกอย่างคือ จำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องแย้ง 2,465,610 บาท ค่าจ้างว่าความทั้งสิ้น 280,000 บาทผู้ว่าจ้างจะชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลืออยู่อีก 250,000 บาท ผู้ว่าจ้างตกลงจะชำระให้เมื่อคดีเสร็จและบริษัท (จำเลย) ได้รับเงินแล้วในทันทีที่ได้รับเงิน ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าคดีนี้จะเสร็จลงด้วยประการใดก็ตาม เอกสารหมาย ล.2 และ ล.1ลงวันที่ติดต่อกัน คือวันที่ 15 มกราคม 2524 และวันที่ 16 มกราคม2524 ตามลำดับส่งถึงจำเลย เอกสารหมาย ล.2 แสดงถึงข้อตกลงเดิมซึ่งมีรายละเอียดว่า โจทก์คิดเอาค่าจ้างว่าความจากจำเลยเมื่อฟ้อง30,000 บาท ก่อน ซึ่งจำนวนตรงกับเอกสารหมาย ล.1 และ จ.10 ส่วนเงินค่าจ้างที่เหลืออีก 250,000 บาท ในเอกสารหมาย ล.1 และ จ.10 ก็คำนวณค่าจ้างว่าความ 10 เปอร์เซ็นต์ จากทุนทรัพย์ที่คำนวณจะฟ้องแย้งไว้เป็นเงินประมาณ 250,546 บาท ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้จัดการฟ้องแย้งให้จำเลยไว้เป็นทุนทรัพย์ 2,465,610 บาท เมื่อคำนวณตัวเลขลงตัวเอาไว้เป็นค่าจ้าง 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นเงิน 250,000 บาท พอดี นำมากำหนดไว้ในเอกสารหมาย ล.1 และ จ.10 ย่อมเห็นได้ว่า การที่โจทก์ทำเอกสารหมาย ล.1 และ จ.10 ขึ้นก็สืบเนื่องมาจากข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.2 นั่นเอง จึงฟังได้ว่า จำเลยและโจทก์มีเจตนาตกลงจ้างว่าความกันตามเอกสารหมาย ล.2 อันเป็นคำเสนอของโจทก์ยืนยันตามข้อตกลงเดิมด้วย นอกเหนือไปจากข้อตกลงจ้างว่าความตามเอกสารหมายจ.10 โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องลงชื่อรับทราบในเอกสารหมาย ล.2 หรือมีหนังสือตอบตกลงถึงโจทก์อีก ทั้งจำเลยก็ได้จ่ายค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งและค่าใช้จ่ายให้โจทก์ไปจัดการแล้ว การที่จำเลยเพิ่งจ่ายเงินค่าจ้างว่าความ 30,000 บาท ให้โจทก์ภายหลังจากโจทก์ฟ้องแย้งแล้วจะถือว่าโจทก์และจำเลยยังไม่ได้ตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.2 หาได้ไม่ เพราะค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการก่อน แม้จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างว่าความ 30,000 บาทเมื่อฟ้องแย้งให้แก่โจทก์ในคราวเดียวกัน แต่โจทก์ก็ได้จัดการยื่นคำให้การและฟ้องแย้งให้จำเลยแล้ว ซึ่งต่างฝ่ายก็ทราบดีและถือว่าไม่ใช่ข้อสาระสำคัญเพราะจะจ่ายให้ในภายหลังได้ ข้อความในเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.10 ที่ระบุจำนวนเงินส่วนที่เหลืออีก 250,000 บาทไว้ว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงจะชำระให้เมื่อคดีเสร็จและบริษัท (จำเลย)ได้รับเงินแล้วในทันทีที่ได้รับเงิน ทั้งนี้โดยไม่คำนึงถึงว่าคดีนี้จะเสร็จลงด้วยประการใดก็ตาม” นั้น เป็นการขยายความจากข้อตกลงในเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 4 ที่มีข้อความว่า “ค่าทนายอีกส่วนหนึ่งจะคิดเมื่อได้รับเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ได้รับ (หมายความว่า ถ้าแพ้คดีผม (โจทก์) ก็ไม่ได้รับด้วย)” ดังนั้นค่าทนายความส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ ดังกล่าวนั้นจึงหมายถึงค่าทนายความส่วนที่เหลือ250,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.10 นั่นเอง ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาจ้างว่าความที่โจทก์คิดค่าจ้างว่าความที่เหลือจากจำเลย 10เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 250,000 บาท ของจำนวนเงินที่จำเลยจะได้มาจากการฟ้องแย้งเรียกจากบริษัทก่อสร้างสหพันธ์ จำกัด เป็นสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ จึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2508 มาตรา 41 ประกอบกับพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477มาตรา 12(2) เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ยกเลิกพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 ไปแล้ว และตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทเฉพาะกาล มาตรา 86 กำหนดให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความตามมาตรา 53 ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามิได้กำหนดเรื่องค่าจ้างการว่าความไว้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างว่าความระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่เป็นโมฆะมาแต่ต้นแล้วกลับสมบูรณ์ขึ้นได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างว่าความที่เหลือจากจำเลย…”
พิพากษายืน.

Share