คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเพิ่งมาดำรง ตำแหน่ง หัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัด อุบลราชธานี ภายหลังจากที่ได้ จดแจ้งชื่อ โจทก์ที่ 2 ถึง ที่ 5 ลงทะเบียนคนญวนอพยพแล้ว ตาม ฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึง ที่ 5 มีสาระสำคัญขอให้จำเลยซึ่ง เป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัด อุบลราชธานีคนปัจจุบันถอน ชื่อ โจทก์ที่ 2 ถึง ที่ 5 ออกจากทะเบียนคนญวนอพยพเพราะการลงชื่อโจทก์ที่ 2 ถึง ที่ 5 ไว้ในทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วย กฎหมาย ดังนั้นแม้จำเลยจะมิใช่ผู้จดแจ้งชื่อ โจทก์ที่ 2 ถึง ที่ 5 ไว้ในทะเบียน โจทก์ที่ 2 ถึง ที่ 5 มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ แม้อำนาจฟ้องจะเป็น ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลย มิได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การหากศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะไม่ วินิจฉัยให้ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นาย พ. คนสัญชาติไทยอยู่กินฉัน สามีภรรยากับโจทก์ที่ 1คนสัญชาติญวนโดย มิได้จด ทะเบียนสมรส และให้กำเนิดโจทก์ที่ 2 ต่อมานาย พ. กับโจทก์ที่ 1 ได้ จด ทะเบียนสมรสกันโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่บุคคลที่จะถูก ถอน สัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2519ข้อ 1 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บุคคลตาม ข้อ 1(1)(2) และ (3)ตาม ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายง้วมกับนางวิน แซ่เลียด คนต่างด้าว สัญชาติญวน โจทก์ที่ 1 เกิดในราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคนสัญชาติไทย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไพบูลย์ เฉลิมพร คนสัญชาติไทยกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นคนสัญชาติไทย และยังเป็นผู้เยาว์อยู่ นายไพบูลย์บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมดำเนินคดีแทนจำเลยเป็นข้าราชการตำรวจมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2519 จำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคนต่างด้าว แล้วจำเลยเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเลขที่ 111 หมู่ที่ 6ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อโจทก์ที่ 5 เกิดมาจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ที่ 5 เป็นคนต่างด้าวและเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 5 ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพดังกล่าว
จำเลยให้การว่า จำเลยเพิ่งจะมาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2526 จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ที่เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งห้าลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพตามฟ้องจำเลยยอมรับว่าบิดามารดาโจทก์ที่ 1 ชื่อนายง้วม กับนางวิน แซ่เลียดแต่บิดามารดาโจทก์ที่ 1 จะสมรสกันโดยชอบหรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง โจทก์ที่ 1 จะเกิดในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง และถึงแม้ว่าโจทก์ที่ 1 จะเกิดในราชอาณาจักรไทยก็ตาม แต่บิดามารดาโจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าว สัญชาติญวนที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวในขณะที่โจทก์ที่ 1 เกิด โจทก์ที่ 1 จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่13 ธันวาคม 2515 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 แต่นายไพบูลย์จะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 หรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุคคลสัญชาติไทยให้จำเลยถอนชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นคนสัญชาติญวนเกิดในราชอาณาจักรไทย เป็นภรรยาของนายไพบูลย์คนสัญชาติไทย มีบุตรด้วยกันเกิดในประเทศไทย 4 คนคือ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ นายไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และคดีระหว่างโจทก์ที่ 1กับจำเลยยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และโจทก์ที่ 2 จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515ข้อ 1 หรือไม่…เห็นว่า แม้จะได้ความว่าจำเลยเพิ่งมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่1 ธันวาคม 2526 ภายหลังจากที่ได้มีการจดแจ้งชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ลงในทะเบียนคนญวนอพยพแล้วก็ตาม แต่ตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 มีสาระสำคัญขอให้จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานีคนปัจจุบัน ถอนชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ออกจากทะเบียนคนญวนอพยพ เพราะการลงชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ไว้ในทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนั้นแม้จำเลยจะมิใช่ผู้ที่จดแจ้งชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ไว้ในทะเบียนนั้น โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่าไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ไปติดต่อกับจำเลยให้ถอนชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ออกจากทะเบียนคนญวนอพยพก่อนฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้นี้ไว้ในคำให้การ แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ว่า โจทก์ที่ 2 จะต้องถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1หรือไม่ ปัญหานี้แม้นายไพบูลย์คนสัญชาติไทยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ที่ 1 คนสัญชาติญวนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และให้กำเนิดโจทก์ที่ 2 เมื่อปีพ.ศ. 2510 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2512 นายไพบูลย์และโจทก์ที่ 1จึงได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายก็ตาม เห็นว่า โจทก์ที่ 2ไม่ใช่บุคคลที่จะถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บุคคลตามข้อ 1(1) (2) และ (3) ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share