คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์รวมทั้งที่พิพาทเมื่อปี 2504 โดยไม่ทราบว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้หนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกทับที่พิพาทแต่จำเลยทั้งสองก็ได้ครอบครองตั้งแต่ปี 2504 ด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมา 20 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 375 มีชื่อนางคล้ำมารดาโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อประมาณ 12 ปีมานี้ทางราชการและวัดน้ำฉ่าได้มาติดต่อขอที่ดินทำถนนผ่านที่ดินแปลงนี้ทางด้านทิศใต้ เรียกว่า ถนนสายตลาดดงน้อย-วัดน้ำฉ่าที่ดินแปลงนี้จึงถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนเหนือเนื้อที่ประมาณ60 ไร่เศษ และส่วนใต้เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เศษ ต่อมานางคล้ำได้ถึงแก่กรรมลง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้รับมรดก เมื่อปี 2520จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องกัน ได้ขออาศัยทำกินโดยจะลงทุนไถคราดและเกลี่ยที่ทำนาเป็นเวลา 5 ปี โดยโจทก์ไม่คิดผลประโยชน์ครั้นเมื่อสิ้นปี 2524 โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ทำนาต่อไปอีกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินทำการรังวัดสอบเขต จำเลยกลับเข้าขัดขวางอ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลยขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโจทก์และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,500 บาทและต่อไปอีกปีละ 3,000 บาท จนกว่าจะออกจากที่ดินโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินส่วนเหนือถนนตลาดดงน้อย-วัดน้ำฉ่าเนื้อที่ 4 ไร่เศษ และด้านใต้ถนนอีก 49 ไร่เศษ เดิมเป็นที่ดินผืนเดียวกัน และเป็นของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซื้อมาจากนายย้อย มาเอี่ยม ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2504 แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาถึง 21 ปีแล้ว จนต่อมาเมื่อปี 2516 วัดน้ำฉ่าและวัดหินดาษ ได้ขอที่ดินของจำเลยทั้งสองเพื่อทำถนนตัดผ่านเชื่อมวัดทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ยินยอมจึงทำให้ที่ดินถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนทิศเหนือของถนนเป็นเนื้อที่ 4 ไร่เศษส่วนทิศใต้ของถนนเป็นเนื้อที่ 49 ไร่เศษ ขอให้ศาลยกฟ้องศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์อ้างว่าที่พิพาทซึ่งอยู่ด้านใต้ที่ดินของโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ 375ส่วนจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่พิพาทอยู่ด้านเหนือของที่ดินจำเลยทั้งสองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 4จำเลยทั้งสองซื้อมาจากนายย้อย มาเอี่ยม ตั้งแต่วันที่5 กรกฎาคม 2504 ราคา 5,000 บาท ได้พิจารณาแผนที่หลังโฉนดเอกสารหมาย จ.1 แผนที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย ล.3 และแผนที่พิพาทในสำนวนแล้ว แนวเขตที่ดินที่ปรากฏในแผนที่หลังโฉนด เอกสารหมาย จ.1 และแผนที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย ล.3 คล้ายคลึงกับแนวเขตที่ดินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างชี้ว่าตนครอบครองตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาท แต่ทางราชการออกโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย จ.1 ก่อนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย ล.3 น่าเชื่อว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย ล.3 ออกทับที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.1 บางส่วน จึงต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดครอบครองที่พิพาทเพราะจำเลยทั้งสองอ้างว่าซื้อที่ดินจากผู้มีชื่อและเข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 21 ปีแล้ว โจทก์นำสืบว่า ปี 2517นายสายบิดาได้ยกที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ โจทก์จึงให้นายนารถ แก้วคำ เช่าทำนาต่อไป ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกปีละ 3 เกวียน นายนารถคงทำนาเฉพาะที่ดินส่วนด้านทิศเหนือเนื้อที่ 60 ไร่เศษ ส่วนที่ดินด้านทิศใต้เป็นที่ดอนไม่ได้ทำต่อมาปี 2520 จำเลยทั้งสองไปขอเช่าทำนา ส่วนด้านทิศใต้ โจทก์เห็นว่าเป็นที่ดินรกร้าง จึงให้ทำโดยไม่คิดค่าเช่า 5 ปีหลังจากนั้นจึงจะคิดค่าเช่ากัน จำเลยทั้งสองทำมาจนถึงเดือนธันวาคม 2524 โจทก์จึงแจ้งจำเลยทั้งสองว่าโจทก์จะเข้าทำนาเองแต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอม อ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสองมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าไม่เคยขอเช่าที่พิพาทจากโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองซื้อที่พิพาทจากนายย้อย มาเอี่ยม ตั้งแต่ปี 2504 ในราคา 5,000 บาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.3 เมื่อจำเลยทั้งสองซื้อแล้ว จำเลยที่ 2, นายถวิล วิเศษกุล ซึ่งเป็นน้อยเขยและหลานช่วยกันทำนาในที่ดินแปลงนี้ตลอดมา ส่วนจำเลยที่ 1ไปประกอบอาชีพช่างไม้อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ฝ่ายจำเลยมีพระภิกษุลมุล คำบัณฑิต อดีตเจ้าอาวาสวัดน้ำฉ่ามาเบิกความว่าได้มาขออนุญาตจากจำเลยที่ 2 ดำเนินการตัดถนนผ่านที่พิพาทไปวัดหินดาษ เริ่มสร้างเมื่อปี 2514 จนถึงปี 2517 และมีพระครูสมร อุตโร เจ้าอาวาสวัดหินดาษเป็นพยานด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 จะปรากฏว่ามารดาโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2476 แต่นายเทิ้ม วงศ์กำภูพยานโจทก์เองซึ่งเป็นเจ้าของที่นาติดกับที่พิพาทมาร่วม 30 ปีเบิกความว่าเดิมที่พิพาทมีนายย้อยทำนา จำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทจากนายย้อยตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากนั้นจำเลยที่ 2เข้าทำนาตลอดมา ในช่วงที่จำเลยที่ 2 เข้าทำนานั้น มารดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ ตัวโจทก์ก็เบิกความรับว่านายนารถซึ่งเช่าทำนาจากมารดาโจทก์มิได้ทำทั้งแปลง คงว่างอยู่ทางทิศใต้ประมาณ20 ไร่ เพราะพื้นที่สูงก็มี ต่ำก็มี ทำนาไม่ได้ นายนารถเบิกความเจือสมว่า ที่ดินทางทิศใต้ตนไม่ได้ทำนาเพราะเป็นที่ดอนที่ดินตอนใต้นี้จำเลยที่ 2 เป็นคนทำ แต่จะทำมานานเท่าใดไม่ทราบแสดงว่ามารดาโจทก์และตัวโจทก์มิได้ทำประโยชน์ในที่พิพาทมานานแล้วและน่าเชื่อว่าการที่มารดาโจทก์มิได้ทำประโยชน์ในที่พิพาทเป็นเหตุให้นายย้อยเข้าใจว่าที่พิพาทเป็นที่ป่าไม่มีเจ้าของ จึงได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองมาขอทำนาทางทิศใต้เมื่อปี 2520 เป็นเวลา 5 ปีนั้นไม่น่าเชื่อเพราะหลังจากจำเลยที่ 1 ซื้อที่พิพาทจากนายย้อยแล้วเมื่อปี 2504 จำเลยที่ 1 ไปประกอบอาชีพเป็นช่างไม้อยู่ที่กรุงเทพมหานครมิได้มาเกี่ยวข้องอีก ประกอบกับพระภิกษุลมุลและพระครูสมรเบิกความสอดคล้องกันว่าพระภิกษุลมุลไปขออนุญาตจำเลยที่ 2 ทำถนนผ่านที่พิพาทเมื่อปี 2514 ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทตั้งแต่ก่อนปี 2520ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไปขอทำนา น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย ล.3รวมทั้งที่พิพาทเมื่อปี 2504 โดยไม่ทราบว่าที่พิพาทอยู่ในที่เขตโฉนดที่ดินของฝ่ายโจทก์ แม้หนังสือรับรองการทำประโยชน์จะออกทับที่พิพาท แต่จำเลยทั้งสองก็ได้ครอบครองตั้งแต่ปี 2504 ด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมา 20 กว่าปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องค่าเสียหายไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share