แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามคำขอของโจทก์ที่ว่าหากจำเลยไม่ยอมรื้อสะพานที่จำเลยสร้างบุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่บางส่วนแล้ว ให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนนั้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ทวิ ศาลย่อมพิพากษายกคำขอนี้เสีย แต่ก็ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสะพานไม้ในส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดิน ส.ค.1 หมู่ที่ 4 ตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้ โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนและค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2526 จำเลยได้สร้างสะพานตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 สะพานที่พิพาทกว้าง 1.25 เมตร ยาว 9.45 เมตรทอดยาวไปในคลองเจ้าเจ็ด ทางทิศตะวันตกของสะพานดังกล่าวมีบ้านโจทก์ปลูกอยู่ ข้างสะพานด้านขวาเป็นโรงเลี้ยงเป็ดของโจทก์มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยสร้างสะพานบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์หรือไม่… ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสร้างสะพานบุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่บางส่วน เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ขอค่าเสียหายและค่ารื้อถอนสะพานไม้รวมเป็นเงิน 2,000 บาท โดยมิได้แยกระบุว่าเป็นค่าเสียหายจำนวนเท่าใด จึงกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน1,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ตามคำขอของโจทก์ที่ว่าหากจำเลยไม่ยอมรื้อ ให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนนั้น เป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติมาตรา 296 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสะพานไม้ส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ตามแผนที่วิวาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 1,000 บาท เว้นแต่ตามคำขอที่ว่าหากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนให้ยกเสีย.