คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำขอของโจทก์ที่ว่าหากจำเลยไม่ยอมรื้อสะพานที่จำเลยสร้างบุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่บางส่วนแล้ว ให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนนั้น เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสะพานไม้ในส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดิน ส.ค.1 หมู่ที่ 4 ตำบลเจ้าเสด็จ อำเภอเสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้ โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนและค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000 บาท จำเลยให้การว่า สะพานไม้ไม่ได้อยู่ในเขตที่ดิน ส.ค.1 ของโจทก์ แต่อยู่ในทางสาธารณะซึ่งประชาชนได้ใช้ร่วมกันมากกว่า 60 ปี แล้ว สะพานนี้มิได้กีดขวางที่ดินหรือโรงเลี้ยงเป็ดของโจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าที่ดินที่ปลูกสร้างสะพานจะอยู่ในเขตที่ดิน ส.ค.1 ของโจทก์ แต่โจทก์ก็ได้สละสิทธิให้เป็นทางสาธารณะแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2526 จำเลยได้สร้างสะพานตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 สะพานที่พิพาทกว้าง 1.25 เมตร ยาว 9.45 เมตรทอดยาวไปในคลองเจ้าเจ็ด ทางทิศตะวันตกของสะพานดังกล่าวมีบ้านโจทก์ปลูกอยู่ข้างสะพานด้านขวาเป็นโรงเลี้ยงเป็ดของโจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยสร้างสะพานบุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินพิพาทคดีนี้เดิมเป็นของนายเพิ่ม ธาราพรหม บิดาของโจทก์ได้ครอบครองมานานแล้ว เมื่อนายเพิ่มถึงแก่ความตาย โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทต่อมาปรากฏตามภาพถ่ายแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้สร้างสะพานไม้ทางทิศตะวันออกรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์กว้างประมาณ 2 ศอก ยาวประมาณ 3 วาปรากฏตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เมื่อปลายปี 2526 ที่ดินพิพาทถูกน้ำท่วมหมดในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดทำแผนที่วิวาท เอกสารหมาย จ.2นายช่างของกรมชลประทานได้ชี้เขตคลองเจ้าเจ็ดไว้โดยโจทก์ไม่ได้คัดค้าน นายบัว โตสม พยานโจทก์ปากหนึ่งเบิกความว่าพยานเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พยานเป็นผู้รังวัดที่ดินของนายเพิ่มโดยได้รับคำสั่งจากกำนันในสมัยนั้น กำนันเป็นผู้คำนวณเนื้อที่ส่วนพยานลงชื่อเป็นพยานไว้ในต้นฉบับ ปรากฏตามภาพถ่ายแบบแจ้งการครอบครอง เอกสารหมาย จ.1 สะพานไม้อยู่ในเขตที่ดิน ส.ค.1เพราะอยู่ในเขตเสาไม้หลักที่มีการรังวัด นายจำนง เย็นสถิตย์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า พยานเป็นผู้ทำการรังวัดแผนที่วิวาท เอกสารหมาย จ.2 โจทก์นำชี้ที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่ 3 งาน16 ตารางวา ปรากฏตามเส้นสีแดง สะพานที่พิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์นายประสิทธิ์ แสงสี นายช่างชลประทานชี้แนวเขตคลองชลประทานและหลักไม้แก่นซึ่งเป็นหลักเก่าที่มีอยู่ใต้สะพานที่พิพาทโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน และเป็นหลักเขตเก่าซึ่งระบุไว้ในหนังสือ ส.ค.1เอกสารหมาย จ.1 ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่าชาวบ้านและจำเลยได้ช่วยกันสร้างสะพานที่พิพาทขึ้น เนื่องจากสะพานไม้เก่าชำรุด อยู่ติดต่อกับทางเดินสาธารณะ ส่วนหนึ่งของสะพานอยู่ในเขตที่ของจำเลยประมาณ 6 ศอก ที่เหลืออยู่ในเขตชลประทาน สะพานไม้ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ซึ่งเป็นสะพานเก่าส่วนสะพานใหม่ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.4 และ ล.5 โรงเลี้ยงเป็ดของโจทก์อยู่ใกล้กับสะพานเป็นที่สาธารณะและมีน้ำท่วม ขณะที่มีการรังวัดทำแผนที่วิวาทและเจ้าหน้าที่ชลประทานชี้แนวเขตนั้น ฝ่ายโจทก์ก็ดี ฝ่ายจำเลยก็ดีไม่มีผู้ใดคัดค้าน นายประสิทธิ์ พยานจำเลยปากหนึ่งเบิกความว่า พยานเป็นนายช่างชลประทานประจำสถานีชลประทานตอน 2 โครงการเจ้าเจ็ดบางยี่หน มีหน้าที่ระวังแนวเขตคลองชลประทาน พยานเคยไปชี้เขตคลองเจ้าเจ็ดแนวเขตคลองระบุไว้ในแผนที่วิวาท เอกสารหมาย จ.2 สะพานที่พิพาทบางส่วนอยู่ในเขตคลองชลประทานเจ้าเจ็ดซึ่งเป็นทางสาธารณะและบางส่วนอยู่ในเขตของเอกชน เสาหลักไม้เก่าเป็นหลักเขตของคลองชลประทานด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าตัวโจทก์และนายบัวเบิกความถึงเขตที่ดินตรงตามรูปแผนที่ในภาพถ่ายแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 นายบัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ตามหน้าที่ยืนยันว่า ที่ดินของโจทก์มีรูปลักษณะตามแผนที่ในเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตรงกับแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.2 เชื่อว่านายบัวเบิกความตามความจริง เมื่อกันเขตคลองชลประทานออกไปตามคำเบิกความของนายประสิทธิ์ พยานจำเลยซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว ที่ดินของโจทก์ซึ่งโจทก์ครอบครองทำเป็นโรงเลี้ยงเป็ดคงเหลืออยู่ ทั้งนายจำนงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานทำการรังวัดเอกสารหมาย จ.2 ตามหน้าที่ ก็ยังเบิกความยืนยันว่า สะพานที่พิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนคำพยานจำเลยที่เบิกความว่าสร้างสะพานในทางสาธารณะนั้น กลับมีนายประสิทธิ์เบิกความเจือสมคำพยานโจทก์ว่า สะพานที่พิพาทบางส่วนอยู่ในเขตของเอกชนพยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสร้างสะพานบุกรุกเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่บางส่วน เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ขอค่าเสียหายและค่ารื้อถอนสะพานไม้รวมเป็นเงิน 2,000 บาท โดยมิได้แยกระบุว่าเป็นค่าเสียหายจำนวนเท่าใด จึงกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 1,000บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ตามคำขอของโจทก์ที่ว่าหากจำเลยไม่ยอมรื้อ ให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนนั้น เป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติมาตรา 296 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสะพานไม้ส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ตามแผนที่วิวาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 1,000 บาท เว้นแต่ตามคำขอที่ว่าหากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่ารื้อถอนให้ยกเสีย

Share