คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4152/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นคนสัญชาติอิตาเลียนยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสโดยระบุว่าเอาหนังสือรับรองความเป็นโสดจากสถานทูตมาแสดงไม่ได้ขอให้จำเลยทำหนังสือถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ไปที่สถานทูตเพื่อใช้ประกอบการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย การที่จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนออกหนังสือสอบถามให้และรอหนังสือรับรองจากสถานทูตประเทศที่โจทก์มีสัญชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าโจทก์เป็นโสดไม่ต้องห้ามสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 นั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนสมรสให้แก่โจทก์กรณียังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับนางสาวบัว อุทัยเลี้ยง จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสกับนางสาวบัว อุทัยเลี้ยง โดยอ้างว่าเดิมโจทก์จดทะเบียนสมรสกับนางสมจิตร ผดุงพร ที่เขตนี้และได้จดทะเบียนหย่าขาดกันแล้ว โจทก์ขอจดทะเบียนสมรสใหม่อีก โดยไม่สามารถเอาหนังสือรับรองความเป็นโสดจากสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทยมาแสดงได้ ขอให้เขตพระโขนงทำหนังสือถามไปยังสถานทูตอิตาลีจำเลยได้มีหนังสือถึงกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทย โดยโจทก์รับต้นฉบับไปส่งเอง จนบัดนี้จำเลยยังไม่ได้รับแจ้งจากกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทยแต่อย่างใด จึงยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะจดทะเบียนสมรสให้ตามคำร้องหรือจะปฏิเสธ แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องทั้ง ๆที่จำเลยยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษากลับให้จำเลยจดทะเบียนสมรสให้แก่โจทก์กับนางสาวบัว อุทัยเลี้ยงจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาจำเลยเพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่เท่านั้น โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2527 โจทก์กับนางสาวบัว อุทัยเลี้ยงไปพบจำเลยที่เขตพระโขนงขอจดทะเบียนสมรสกันโดยแจ้งว่าต่างมีคุณสมบัติที่จะจดทะเบียนสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสให้ อ้างว่าโจทก์เป็นชาวต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตจากสถานทูตก่อน โจทก์ไปติดต่อสถานทูตแล้วโดยนำหนังสือของจำเลยไปแสดงตามเอกสารหมาย จ.1แต่ทางสถานทูตไม่ยอมออกหนังสือรับรองให้ โจทก์ไม่มีพยานหรือหลักฐานอื่นมาสนับสนุนอีกว่าโจทก์ไปขอจดทะเบียนสมรสแล้วถูกจำเลยปฏิเสธ ตรงข้ามจำเลยกลับนำสืบนายวิมล บุญยัง หัวหน้างานปกครองของจำเลย กับนายสัมฤทธิ์ ศิริสมบัติ ซึ่งรักษาการแทนจำเลยอยู่ในขณะนั้น ได้ความตรงกันว่า โจทก์ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสโดยระบุด้วยว่าเอาหนังสือรับรองความเป็นโสดจากสถานทูตมาแสดงไม่ได้ขอให้จำเลยทำหนังสือถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ไปที่สถานทูตเพื่อใช้ประกอบการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย ปรากฏตามคำร้องขอฯเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งจำเลยก็จัดการให้ตามความประสงค์ คือเอกสารหมาย จ.1 โดยโจทก์รับหนังสือนั้นไปติดต่อเอง แล้วไม่ได้รับการติดต่อทั้งจากโจทก์และสถานทูตอีกเลย จำเลยจึงยังไม่ได้พิจารณาสั่งว่าจะจดทะเบียนสมรสให้โจทก์ตามคำร้องขอหรือไม่ เฉพาะเอกสารหมาย ล.1นั้น โจทก์เองก็รับว่าลายมือชื่อช่องผู้ยื่นเป็นของตน ทั้งยังได้ความจากนายวิมลด้วยว่าวันที่โจทก์ไปยื่นเอกสารหมาย ล.1 นั้นจำเลยมีล่ามไปด้วย จึงน่าเชื่อว่าคำร้องขอตามเอกสารหมาย ล.1เป็นของโจทก์ โจทก์เข้าใจข้อความโดยตลอดแล้ว พิเคราะห์ข้อความดังกล่าวจะเห็นว่า โจทก์เองเป็นผู้ขอร้องจำเลยให้มีหนังสือสอบถามไปยังสถานทูต มิใช่จำเลยเป็นฝ่ายเกี่ยงให้ทำเช่นนั้น และจำเลยก็แสดงความสุจริตใจ โดยเอื้อเฟื้อช่วยออกหนังสือดังกล่าวให้อีกด้วยนอกจากนี้ตามเอกสารหมาย ล.1 ก็ไม่มีข้อความใดที่พอจะถือได้ว่าจำเลยปฏิเสธการขอจดทะเบียนสมรสของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏเรื่องราวเพิ่มเติม เช่นบันทึกถ้อยคำของโจทก์หรือคู่สมรสไว้แต่อย่างใดด้วยจึงน่าเชื่อว่าจำเลยจะยังมิได้พิจารณาสั่งคำร้องขอของโจทก์ประกอบกับการที่จำเลยรอหนังสือรับรองความเป็นโสดของโจทก์จากสถานทูตก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานว่า โจทก์เป็นโสด ไม่ต้องห้ามสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452อันเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งแห่งการสมรส ฉะนั้นการที่จำเลยจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสและต้องใช้เวลาบ้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิเสธการขอจดทะเบียนสมรส พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักและเหตุผลยิ่งกว่าของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยยังมิได้ปฏิเสธการขอจดทะเบียนสมรสของโจทก์ดังฟ้อง กรณียังไม่มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share