คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกพัสดุ กองคลัง ของโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุ จำเลยได้รับพัสดุเครื่องมือแพทย์จำนวน 7 หีบห่อมาเก็บรักษา แต่ห้องเก็บพัสดุของโจทก์มีของเก็บอยู่เต็ม จำเลยจึงนำพัสดุดังกล่าวไปฝากเก็บไว้ที่ห้องพัสดุของอีกกองหนึ่งโดยมิได้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งห้องเก็บพัสดุดังกล่าวอยู่ชั้นล่าง เป็นห้องไม่มีหน้าต่างมีประตู 2 ประตูประตูหนึ่งใส่กลอนไว้ อีกประตูหนึ่งใช้กุญแจลูกบิด มีเจ้าหน้าที่เก็บรักษาลูกกุญแจ ชั้นบนของห้องดังกล่าวมีเจ้าหนี้ที่ทำงานอยู่การนำพัสดุไปฝากเก็บที่กองอื่นก็ไม่มีระเบียบให้ต้องขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วแม้จำเลยจะมิได้จัดเวรยามเฝ้าก็ปรากฏว่าหลังเลิกงานมีเวรยามของกรมดูแลอยู่แล้ว และการที่จำเลยจัดให้คณะกรรมการตรวจรับหลังจากรับของประมาณ 10 วัน เนื่องจากต้องตรวจสอบและแปลเอกสารก็มิได้เนิ่นนานเกินสมควร การที่พัสดุดังกล่าวหายไปบางส่วนจึงถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหัวหน้าแผนกพัสดุกองคลังของโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจำเลยได้รับพัสดุเครื่องมือแพทย์จำนวน 7 หีบห่อ จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งมาจากต่างประเทศเพื่อนำมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข จำเลยไม่นำพัสดุไปเก็บรักษาไว้ที่ตึกพัสดุยูนิเซฟ อันเป็นโกดังเก็บพัสดุของโจทก์โดยเฉพาะ แต่ได้นำไปเก็บไว้ที่ตึกกองโภชนาการซึ่งมีสภาพไม่ปลอดภัยและไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลเพื่อป้องกันการสูญหาย และละเลยไม่รีบแจ้งให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทราบเพื่อทำการตรวจรับทันทีครั้นเมื่อทราบว่าพัสดุสูญหายไปบางส่วนกลับเพิกเฉยไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามคนร้ายและทรัพย์กลับคืน ด้วยความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบของจำเลยเป็นเหตุให้พัสดุของโจทก์สูญหายไปได้แก่อุปกรณ์กระจกคาดศีรษะที่แพทย์ใช้ส่องช่องปาก2 ชิ้น ราคา 663.36 บาท เครื่องมือตรวจความดันโลหิต 186 ชิ้นราคา 77,155.60 บาท รวมราคา 77,778.96 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 77,778.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2525 จนถึงวันฟ้องจำนวน 4,666.74 บาท รวมเป็นจำนวน 82,445.70 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในการควบคุมดูแลในการเก็บรักษาพัสดุเป็นอย่างดีที่สุดแล้ว กล่าวคือ เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยได้รับพัสดุของโจทก์มาแล้วได้นำไปเก็บรักษาไว้ในสถานที่ปลอดภัย จำเลยได้ไปตรวจดูเห็นว่าห้องเก็บของที่ตึกกองโภชนาการมีกุญแจซึ่งเจ้าหน้าที่ตึกกองโภชนาการเป็นผู้เก็บรักษาไว้ จึงไม่จำเป็นต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแล ที่ต้องเก็บของไว้ในตึกกองโภชนาการเพราะในขณะที่นำของมาเก็บตึกพัสดุยูนิเซพมีของเก็บอยู่เต็มรวมทั้งสถานที่เก็บอื่น ๆ ด้วย อันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพราะดีกว่าจะปล่อยให้ของตั้งอยู่ภายนอกอาคารที่เก็บรักษาซึ่งย่อมไม่ปลอดภัย ทั้งจำเลยได้แจ้งให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุมาทำการตรวจรับโดยเร็ว แต่เนื่องจากเอกสารเกี่ยวกับพัสดุรายนี้เป็นภาษาอังกฤษจำเป็นต้องจัดให้มีการแปลเพื่อจะได้แจ้งกองสาธารณสุขภูมิภาคมาตรวจรับพัสดุได้ถูกต้อง เหตุที่จำเลยมิได้แจ้งความเรื่องพัสดุสูญหายต่อพนักงานสอบสวน เพราะขณะนั้นยังมิได้รับรายงานในรายละเอียดการปฏิบัติงานของจำเลยเกี่ยวกับโครงการประชากรเป็นการปฏิบัติงานนอกเหนือหน้าที่ตามปกติที่มีอยู่และมิได้รับเงินหรือทรัพย์สินเป็นการตอบแทน ในภาวะที่จำเลยมีงานยุ่งยากและเป็นงานด่วน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายที่เกิดขึ้น และฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 77,778.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นข้าราชการดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัสดุกองคลัง ในสังกัดหน่วยงานของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโจทก์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2525ได้มีการส่งเครื่องมือแพทย์จำนวน 7 หีบห่อ มาจากต่างประเทศตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขจำเลยได้มอบหมายให้นางสาวมณีวรรณ นกครุฑ ผู้ใต้บังคับบัญชาไปดำเนินการออกของมาจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อนำพัสดุดังกล่าวมาถึงกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลาใกล้เวลาเลิกงาน จะนำเข้าเก็บรักษาในโกดังเก็บพัสดุแต่นำเข้าเก็บไม่ได้เนื่องจากในโกดังมีพัสดุอื่นเก็บอยู่เต็ม จำเลยจึงให้นางสาวมณีวรรณไปติดต่อนางสาววันเพ็ญ สายสีนวลเจ้าหน้าที่กองโภชนาการขอฝากของไว้ที่ห้องเก็บของของกองโภชนาการซึ่งเป็นอาคารเดียวกับตึกพัสดุยูนิเซฟ ต่อมาปรากฏว่าพัสดุเครื่องมือแพทย์นั้นหายไปบางส่วนคิดเป็นเงิน 77,778.96 บาท ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการลงความเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหาผู้รับผิดทางแพ่งไม่ได้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงให้คณะกรรมการตรวจสอบวินัยของกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้สอบข้อเท็จจริงบางประการเพิ่มเติมคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งจึงสอบสวนเพิ่มเติมตามบันทึกหมาย จ.2 คณะกรรมการตรวจสอบวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกต้องรับผิดชอบ เพราะปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหลายประการและรายงานให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทราบปลัดกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบด้วยได้รายงานกระทรวงการคลังและมีการแจ้งให้จำเลยชดใช้เงินจำเลยไม่ชดใช้ มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้พัสดุของโจทก์หายไปอันจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า เหตุที่จำเลยไม่เก็บของรายพิพาทไว้ในโกดังพัสดุของยูนิเซฟก็ฟังเป็นยุติแล้วว่าโกดังดังกล่าวเก็บของอยู่เต็ม จึงไม่อาจจะถือเป็นความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยเก็บของในห้องเก็บของของกองโภชนาการโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชานั้น มีพยานโจทก์เบิกความถึงเรื่องนี้ 2 ปากคือนายสุพร เข็มทองใหญ่กับนายชาตรี ภูติจันทร์ พยานปากแรกเบิกความตอนตอบโจทก์ว่า ตามระเบียบจำเลยจะต้องขออนุมัติจากผู้อำนวยการกองคลังเพื่อนำของไปเก็บในสถานที่อื่นนอกจากที่เก็บเป็นประจำ แต่เมื่อตอบทนายจำเลยถามค้านกลับเบิกความว่า ที่ว่าเมื่อเก็บของสถานที่อื่นนอกจากที่กำหนดจะต้องรายงานขออนุมัติผู้อำนวยการกองคลัง จะมีระเบียบคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขออกเป็นหนังสือหรือไม่พยานไม่ทราบ ส่วนพยานปากหลังเบิกความตอบโจทก์ว่า ถ้าหากจะเก็บพัสดุนอกโกดังที่กำหนด จะต้องขออนุมัติจากปลัดกระทรวง แต่ตอนตอบทนายจำเลยถามค้านกลับเบิกความว่าในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้ระบุว่าถ้าหากเป็นสถานที่อื่นจะต้องขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา แต่ที่พยานเบิกความในตอนต้นว่า หากจำเลยจะเก็บพัสดุที่อื่นนอกจากโกดังที่กำหนดจะต้องขออนุมัตินั้นเป็นการคาดหมายและเข้าใจเอาเอง จึงฟังไม่ได้ว่ามีระเบียบดังกล่าว การที่จำเลยมิได้ขออนุมัติจึงมิใช่เป็นความผิดของจำเลย สำหรับข้อที่ว่าห้องเก็บของของกองโภชนาการมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏจากพยานโจทก์และจำเลยตรงกันว่าห้องเก็บของของกองโภชนาการเป็นอาคาร 2 ชั้น ห้องที่เก็บพัสดุรายพิพาทอยู่ชั้นล่าง เป็นห้องที่ไม่มีหน้าต่าง มีประตู 2 ประตูประตูหนึ่งใส่กลอนไว้ อีกประตูหนึ่งใช้กุญแจลูกบิด กรอบประตูเป็นไม้ตัวประตูเป็นกระจกใส อาคารชั้นบนมีเจ้าหน้าที่ทำงาน นางมณีวรรณนกครุฑ พยานโจทก์เบิกความว่า หลังเลิกงานมีเวรยามของกรมดูแลสภาพห้องมิดชิดดีพอที่จะเก็บของได้นางทัศนีย์ ยุกตะเสวี พยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาพัสดุสิ่งของอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเบิกความว่า ระหว่างที่เก็บของไว้ในห้องดังกล่าวเมื่อประตูเปิดพยานเคยไปดูประมาณ 10 ครั้ง เห็นหีบห่ออยู่เรียบร้อยและนายเสรีเวชชาชีวะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พยานจำเลยเบิกความว่า พยานได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งในเรื่องนี้ สถานที่ที่จำเลยนำพัสดุไปเก็บรักษาเป็นสถานที่ที่พอสมควรแก่ความปลอดภัยและเหมาะสมแก่การเก็บรักษาแล้ว พัสดุรายพิพาทหายไปเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะสถานที่เก็บไม่มีร่องรอยถูกงัดส่วนการปฏิบัติงานของจำเลยนั้น ปรากฏว่า ตอนนำของเข้าไปเก็บจำเลยก็ไปดู และติดต่อเจ้าหน้าที่ที่รักษาลูกกุญแจ พยานโจทก์เจือสมพยานจำเลยเช่นนี้ คดีจึงฟังได้ว่า ห้องที่จำเลยนำพัสดุไปเก็บมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอ และจำเลยก็ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ส่วนการที่มิได้ใช้กุญแจชนิดคล้องอีกชั้นหนึ่งนั้นเห็นว่า เมื่อเป็นสถานที่ราชการมีกุญแจลูกบิดอยู่แล้วจึงไม่อาจจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อได้ และสำหรับเรื่องเวรยาม เมื่อปรากฏว่าตอนกลางคืนมีเวรยามของกรมอยู่แล้วการที่จำเลยมิได้จัดเวรยามเฝ้าจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อเช่นกัน ส่วนการแจ้งแก่คณะกรรมการตรวจรับนั้น ปรากฏว่า จำเลยได้แจ้งเมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2525 หลังจากวันเก็บของไว้ประมาณ 10 วัน ก็มิได้เนิ่นนานเกินสมควร ทั้งจำเลยเบิกความว่า เหตุที่แจ้งช้าไปเพราะเอกสารทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ต้องมีการตรวจสอบและจัดแปลจึงเสียเวลาซึ่งก็มีเหตุผลน่าเชื่อ และไม่อาจจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยได้ ส่วนข้อที่จำเลยมิได้รายงานผู้บังคับบัญชาทันทีที่ของหาย และไม่ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องภายหลังเกิดเหตุซึ่งมิใช่เหตุแห่งความเสียหายแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย”
พิพากษายืน

Share