คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นพยานสำคัญในการเปิดคดีแต่โจทก์กลับนำพยานอื่นสืบก่อนโดยไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นอย่างไรศาลนัดสืบพยานครั้งหลังห่างจากครั้งก่อนถึง 2 เดือนเศษ โจทก์ย่อมจะกะเวลาให้มีวันว่างตรงกันได้แต่กลับไปต่างประเทศโดยมิได้แถลงให้เห็นว่าเนื่องด้วยกิจธุระสำคัญและจำเป็นอย่างไร และจะเบิกความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแก่คดีอย่างไรพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประวิงคดี ศาลชอบที่จะสั่งงดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าวเสียได้ เอกสารรายงานการนำเข้า การซื้อ การจำหน่ายและใบเสร็จรับเงินที่บริษัท ท.ทำรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการที่รัฐบาลจะได้ควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายทองคำภายในประเทศ ปรากฏว่ามีการจำหน่ายทองคำให้แก่โจทก์ในวันที่2 ธันวาคม 2521 วันที่ 20,24 และ 26 มกราคม 2522 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์หักล้างให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นได้ทั้งโจทก์มิได้มีการลงบัญชีเกี่ยวกับทองคำที่ซื้อมาจากบริษัท ท.ทั้ง 4 รายการนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ซื้อและขายทองคำจำนวนดังกล่าวไปในวันเดียวกันดังที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน ราคาทองคำมีการขึ้นลงอยู่เสมอ เจ้าพนักงานประเมินตีราคาสินค้าคงเหลือปลายปี พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2522 ราคาทองคำกรัมละ 129,6334 บาท และ 174.8144 บาท ตามลำดับ อันเป็นการเฉลี่ยหาราคาทุนของทองคำที่โจทก์ซื้อมาทั้งปี จึงเป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องสองสำนวนศาลภาษีอากรกลางสั่งให้รวมพิจารณาโจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้แจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีการค้า ภาษีบำรุงรายได้เทศบาลและเงินเพิ่มสำหรับเดือนธันวาคม 2521 และเดือนมกราคม 2522 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,016,270.17 บาท กับให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2521 และ 2522 โดยอ้างว่าโจทก์ได้ซื้อทองคำจากบริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัด มาทำเป็นทองรูปพรรณจำหน่ายแล้วไม่นำยอดขาย ยอดซื้อ ไปลงบัญชีและยังอ้างว่าโจทก์แสดงรายการสินค้าคงเหลือปลายปีต่ำไปโดยให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 2,189,561.66 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ชอบ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ในวันที่ 18 ธันวาคม 2521 โจทก์ซื้อทองคำคิดเป็นน้ำหนัก 36,928.7 กรัม เป็นเงิน 4,779,348 บาทวันที่ 20 มกราคม 2522 โจทก์ซื้อทองคำคิดเป็นน้ำหนัก 24,493.5 กรัมเป็นเงิน 3,518,834 บาท วันที่ 24 มกราคม 2522 โจทก์ซื้อทองคำคิดเป็นน้ำหนัก 37,547.9 กรัม เป็นเงิน 5,160,283 บาท และวันที่26 มกราคม 2522 โจทก์ซื้อทองคำคิดเป็นน้ำหนัก 24,192.8 กรัมเป็นเงิน 3,729,561 บาท โจทก์มิได้นำรายการซื้อทองคำลงบัญชีเจ้าพนักงานประเมินจึงทำการประเมิน เฉพาะการซื้อทองคำวันที่ 18ธันวาคม 2521 โจทก์ต้องเสียภาษีการค้า 145,228.52 บาทเงินเพิ่ม 106,014.62 บาท ภาษีบำรุงรายได้ เทศบาล 25,124.01 บาทและซื้อทองคำวันที่ 20, 24 และ 26 มกราคม 2522 โจทก์ต้องเสียภาษีการค้า 391,070.84 บาท เงินเพิ่ม 2,581,571 บาท ภาษีภาษีบำรุงรายได้เทศบาล 67,264.18 บาท และโจทก์มิได้นำยอดขายลงบัญชีเป็นเงิน 5,020,850.92 บาท ยอดซื้อไม่ลงบัญชี 4,779,348 บาทเมื่อปรับปรุงรายการแล้วโจทก์ต้องชำระค่าภาษีเพิ่ม 68,776.01 บาทและเงินเพิ่ม 13,755.20 บาท และยังแสดงรายการราคาสินค้าคงเหลือปลายปีต่ำไป 1,734,044.35 บาท เมื่อปรับปรุงรายการแล้วโจทก์ต้องชำระค่าภาษีและเงินเพิ่ม 121,383.10 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 พบว่ายอดขายไม่ลงบัญชี 13,035,694.91 บาทและยอดซื้อไม่ลงบัญชี 12,408,378 บาท เมื่อปรับปรุงรายการแล้วโจทก์ต้องชำระค่าภาษีและเงินเพิ่ม 43,891.81 บาท และยังพบว่าโจทก์แสดงราคาสินค้าคงเหลือปลายปีต่ำไป 4,389,722.34 บาท และแสดงราคาสินค้าคงเหลือยกมาจากรอบระยะเวลาบัญชีก่อนขาดไป1,734,044.35 บาท เมื่อปรับปรุงรายการแล้วโจทก์ต้องชำระค่าภาษีและเงินเพิ่ม 185,897.45 บาท การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 สิงหาคม 2531 ว่าพยานโจทก์ที่ถูกศาลภาษีอากรกลางสั่งให้งดสืบนั้นคือกรรมการผู้จัดการของโจทก์เอง โดยทนายโจทก์แถลงว่า กรรมการผู้จัดการของโจทก์เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2531 กลับมาประเทศไทยในวันนัดสืบไม่ทัน และปรากฎว่าในนัดก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2531 ทนายโจทก์ก็ได้ขอเลื่อนคดีเพราะพยานปากดังกล่าวไม่มาศาลมาครั้งหนึ่งแล้วศาลฎีกาเห็นว่า โดยปกติแล้วโจทก์น่าจะนำสืบกรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นพยานปากแรกเพราะเป็นพยานสำคัญในการเปิดคดีแต่โจทก์กลับนำสืบพยานอื่นก่อน โดยไม่ปรากฎว่ามีความจำเป็นอย่างไรโดยเฉพาะในวันนัดสืบพยานครั้งสุดท้ายได้นัดห่างจากนัดก่อนหน้าถึง2 เดือนเศษ กรรมการผู้จัดการของโจทก์แม้จะมีธุรกิจมากมายเพียงใดก็ย่อมจะกะเวลาให้มีวันว่างตรงกับวันนัดที่จะมาเบิกความได้แต่กลับไปต่างประเทศเสียเป็นเวลานานนับเป็นเดือน โดยโจทก์มิได้แถลงว่าเนื่องด้วยกิจธุระจำเป็นหรือสำคัญอย่างไร ทั้งมิได้มีหลักฐานอื่นใดมาแสดง เป็นเพียงคำกล่าวของทนายโจทก์ลอย ๆอีกทั้งทนายโจทก์ก็มิได้แถลงให้ศาลทราบว่า กรรมการผู้จัดการของโจทก์จะเบิกความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันใด สำคัญแก่คดีเพียงใดย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์มิได้ให้ความสนใจตามสมควรที่จะนำพยานโจทก์ปากดังกล่าวมาเบิกความต่อศาล ไม่ขวนขวายดำเนินคดีให้ต่อเนื่องรัดกุมตามสมควรที่จะกระทำได้และโดยเนื้อแท้แล้ว ตามพฤติการณ์ที่ปรากฎดังกล่าวอาจทำให้เล็งเห็นได้ว่ากรรมการผู้จัดการของโจทก์ไม่เต็มใจที่จะมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลในคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลของโจทก์อ้างว่าในวันที่ 10 มิถุนายน 2531 กรรมการผู้จัดการของโจทก์ได้มาศาลด้วยก็ไม่เป็นความจริง เพราะขัดกับคำแถลงของทนายโจทก์ที่ศาลได้จดบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2531ซึ่งมีใจความปรากฎชัดแจ้งว่าพยานโจทก์ที่จะสืบอีก 1 ปากไม่มาศาล ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า โจทก์ประวิงคดีและสั่งงดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าวเสียจึงเป็นการชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระแห่งคดี มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ซึ่งมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าในเดือนธันวาคม 2521 และเดือนมกราคม 2522 โจทก์ซื้อทองคำจากบริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัด ดังที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินหรือไม่ และเจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาสินค้าคงเหลือปลายปี พ.ศ. 2521 และ 2522 ดังที่ทำการประเมินนั้นเป็นการชอบหรือไม่ ในปัญหาแรก นางวิไล ปัญญาธัญญะ เจ้าหน้าที่จำเลยผู้ทำการตรวจสอบการเสียภาษีและประเมินภาษีในคดีนี้เบิกความว่าพยานได้อาศัยหลักฐานจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งบริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัดทำรายงานส่งต่อธนาคารแห่งประเทศไทยปรากฎตามเอกสารหมาย ล.4และ ล.5 เอกสารหมาย ล.4 คือสำเนาใบเสร็จรับเงิน ซึ่งปรากฎว่าใบเสร็จรับเงินแผ่นที่ 14 ถึงแผ่นที่ 34 บริษัท ไทยสหกาญจนกิจจำกัด ออกให้โจทก์เนื่องจากโจทก์ซื้อทองคำจากบริษัทดังกล่าวส่วนเอกสารหมาย ล.5 คือ รายงานการนำเข้า การซื้อและการจำหน่ายทองคำของบริษัท ไทยสหกาญจนกิจ จำกัด ปรากฎว่าเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีข้อความเชื่อมโยงรับกันแสดงว่า บริษัทไทยสหกาญจจนกิจจำกัด ได้ขายทองคำให้แก่โจทก์ไปดังที่ปรากฎรายการในเอกสารหมาย ล.5นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนางวิไล ต่อไปว่า เมื่อตรวจหลักฐานดังกล่าวกับหลักฐานของโจทก์แล้ว ปรากฎว่าในปี พ.ศ. 2521 โจทก์ไม่ได้ลงบัญชีว่ามีการซื้อทองจากบริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2521 ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.5 หน้า 13ลำดับที่ 5 และในเดือนมกราคม 2522 โจทก์ไม่ได้ลงบัญชีว่ามีการซื้อทองจากบริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 20, 24 และ 26 มกราคม 2522รวม 3 รายการปรากฎตามเอกสารหมาย ล.5 หน้า 10 ลำดับที่ 31หน้า 9 ลำดับ 95 และหน้า 8 ลำดับที่ 129 ตามลำดับ เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นรายงานที่บริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัด มีหน้าที่ต้องนำยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการที่รัฐบาลจะได้ควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายภายในประเทศได้ถูกต้องโจทก์อุทธรณ์ว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง เพราะในเดือนธันวาคม 2521 และเดือนมกราคม 2522 โจทก์ไม่ได้ซื้อทองคำจากบริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัด ตามรายการดังกล่าวแต่โจทก์ก็มิได้มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์หักล้างเอกสารดังกล่าวนั้นนายเชษฐทวี เจริญพิทักษ์ พยานโจทก์เบิกความว่า รายงานเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย บางรายก็ไม่ตรงต่อความเป็นจริงและแม้นางวิไลจะเบิกความเป็นทำนองว่าเอกสารหลักฐานต่าง ๆที่ตรวจสอบไม่สมบูรณ์นัก ตลอดจนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พนักงานขายของบริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัด มีพฤติการณ์ประพฤติมิชอบ มีการลงบัญชีว่าได้ขายทองคำไปทั้ง ๆ ที่ลูกค้าไม่ได้ซื้อนั้น ก็เป็นเพียงพยานหลักฐานที่เลื่อนลอย มิได้ระบุชี้ชัดลงไปให้เห็นได้ว่า รายการขายทองคำให้โจทก์ทั้ง 4 ครั้งในเอกสารหมาย ล.5 ดังกล่าวนั้น มิได้มีการขายให้โจทก์จริง จากพยานหลักฐานที่ปรากฎข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเอกสาร ล.5 เป็นเอกสารที่บริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัดกระทำขึ้นตามความเป็นจริง เมื่อโจทก์มิได้มีการลงบัญชีเกี่ยวกับทองคำที่ซื้อมาจากบริษัทไทยสหกาญจนกิจ จำกัด ทั้ง 4 รายการดังกล่าว จึงถือได้ว่า โจทก์ซื้อและขายทองคำจำนวนดังกล่าวไปในวันเดียวกันนั้น ดังที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินนั้นเป็นการชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับในปัญหาที่ว่าเจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาสินค้าคงเหลือปลายปี พ.ศ. 2521 และ 2522 ดังที่ทำการประเมินเป็นการชอบหรือไม่นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (6) วรรคแรก บัญญัติว่า”ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า”คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินตีราคาสินค้าคงเหลือปลายปี พ.ศ. 2521ราคาทองคำกรัมละ 129.6334 บาท และราคาสินค้าคงเหลือปลายปีพ.ศ. 2522 ราคาทองคำกรัมละ 174.8144 บาท ปรากฎรายละเอียดวิธีคำนวณตามเอกสารหมาย ล.4 หน้า 112 และ 113 อันเป็นการเฉลี่ยหาราคาทุนของทองคำที่โจทก์ซื้อมาทั้งปี ทั้งนี้เป็นเพราะราคาทองคำมีการขึ้นลงอยู่เสมอโจทก์อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินคำนวณคิดเฉลี่ยราคาทองคำบาทละ 15 กรัม เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโดยแท้จริงแล้วทองคำ1 บาท เท่ากับ 15.244 กรัม โดยโจทก์กล่าวอ้างมาลอย ๆ มิได้นำสืบพยานหลักฐานสนับสนุนอย่างใด จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง และการคำนวณโดยการคิดบาทละ 15 กรัม นั้น เป็นมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ทั่วไปการคิดคำนวณดังที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงถูกต้องแล้ว สำหรับราคาสินค้าคงเหลือในคดีนี้ ทั้งโจทก์และเจ้าพนักงานประเมินต่างคิดจากราคาทุนเช่นเดียวกัน ไม่มีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับราคาทุนกับราคาตลาดว่าอย่างใดจะน้อยกว่ากันซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าราคาทุนย่อมจะน้อยกว่าราคาตลาดจึงมีการคิดราคาคงเหลือจากราคาทุน โจทก์อุทธรณ์ว่าการคิดราคาสินค้าทองคำโจทก์ใช้ระบบที่ถือว่าขายสินค้าที่ซื้อมาภายหลังก่อน ดังนั้นสินค้าคงเหลือของโจทก์จึงเป็นสินค้าที่โจทก์ซื้อมาในสมัยก่อนซึ่งทองคำมีราคาบาทละ 400 บาท หรือกรัมละ 27 บาท โจทก์จึงตีราคาสินค้าคงเหลือกรัมละ 27 บาท ทั้งในปี พ.ศ. 2521 และ 2522 ส่วนนางวิไลเจ้าพนักงานประเมินเบิกความเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใจความว่าแม้จะคิดราคาสินค้าคงเหลือในระบบดังกล่าว แต่โจทก์ขายทองคำของเก่าออกไปบ้างทุกปีและในบางปีโจทก์มีทองคำที่ซื้อมาใหม่อยู่บ้าง ดังนั้นการที่โจทก์คิดราคาสินค้าคงเหลือกรัมละ 27 บาททั้งในปี พ.ศ. 2521 และ 2522 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่า การคิดราคาทองคำสินค้าคงเหลือดังที่เจ้าพนักงานประเมินได้คิดคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่ปรากฎรายละเอียดในเอกสารหมาย ล.4แผ่นที่ 112 และ 113 นั้นนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว กล่าวคือเป็นราคาต่ำเท่าที่สามารถจะคิดได้ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบหักล้างในข้ออื่นอีกเกี่ยวกับรายละเอียดของการที่เจ้าหนักงานประเมินคิดเช่นนั้นนอกจากที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่า การกำหนดราคาสินค้าคงเหลือปลายปี พ.ศ.2521 และ 2522 ของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์นอกจากนี้ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share