คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3551/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วจะต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ แม้ไม่มีระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ก็สามารถพิจารณาได้จากการกระทำของโจทก์ว่า เป็นการกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 หรือไม่ โจทก์ซึ่งมีอาการมึนเมาสุราได้ขอให้ ป.ผู้ร่วมงานช่วยตามหาภรรยาซึ่งหนีไป เมื่อ ป. ไปกับโจทก์ โจทก์ถือโอกาสพา ป. เข้าโรงแรมแล้วปลุกปล้ำแต่ ป. หนีมาได้ การกระทำของโจทก์นอกจากจะเป็นความผิดอาญา เป็นการประพฤติผิดศีลธรรมอันดี เป็นการประพฤติชั่วแล้ว ยังก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างเพื่อนร่วมงาน อันเป็นผลเสียกระทบกระเทือนถึงการงานของจำเลยด้วย ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2527 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 116 บาท กับเบี้ยขยันอีกเดือนละ 400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 2 และวันที่ 17ของเดือน ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2531 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ไม่จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 23,280 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,974 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบของจำเลยอย่างร้ายแรง โดยจำเลยทำร้ายร่างกายและพยายามข่มขืนใจนางประพันธ์ โป้บุญมา ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า กรณีเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น แม้จะไม่มีระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ ก็สามารถพิจารณาได้จากการกระทำของโจทก์ว่าเป็นการกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา583 หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซึ่งมีอาการมึนเมาสุราได้ไปหานางประพันธ์ โป้บุญมา ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานที่บ้าน เพื่อขอให้ช่วยตามภรรยาซึ่งหนีไป และเมื่อนางประพันธ์ไปกับโจทก์ โจทก์ก็ถือโอกาสพานางประพันธ์เข้าโรงแรมแล้วปลุกปล้ำแต่นางประพันธ์หนีมาได้และไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า การกระทำของโจทก์ นอกจากจะเป็นความผิดอาญาเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมอันดีเป็นการประพฤติชั่วแล้ว การกระทำดังกล่าวยังก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างเพื่อนร่วมงานอันเป็นผลเสียกระทบกระเทือนถึงการงานของจำเลยด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share