แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางปราโมทย์ จารุเสวก และนายวันชัยภาติกร ต่อมาบิดามารดาโจทก์ได้หย่ากัน บิดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับจำเลย ไม่มีบุตรด้วยกัน บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเพียง 2 คน คือ โจทก์และจำเลย ทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์มีทั้งสิ้นประมาณ 1,335,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับครึ่งหนึ่งประมาณ 667,500 บาท แต่เนื่องจากจำเลยได้โอนขายที่ดินที่กรุงเทพมหานครอันเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดก จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกในส่วนที่ยักย้าย และส่วนนั้นต้องตกกลับมาเป็นของโจทก์คิดเป็นเงิน 125,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกทั้งสิ้นเป็นเงิน792,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดิน หากไม่ยอมแบ่งก็ขอให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ใช้ราคา 792,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะนำเงินมาชำระครบถ้วน
จำเลยให้การว่า พันตำรวจเอกวันชัยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ต่าง ๆ ให้แก่จำเลย ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองท้ายคำให้การ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร ผู้ตาย เมื่อวันที่ 29 เมษายน2506 มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ นางสาวปาริชาต ภาติกร ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 ผู้ตายมีทรัพย์สินหลายอย่างเป็นมรดก ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของโจทก์มีว่า
1. โจทก์เป็นทายาทของพันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร หรือไม่
2. โจทก์มีสิทธิรับมรดกตามฟ้องหรือไม่
3. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
จะวินิจฉัยปัญหาข้อ 2 ที่ว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกตามฟ้องหรือไม่ ก่อน ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานประกอบพยานเอกสารว่า ก่อนผู้ตายล้มเจ็บประมาณ 5-6 เดือน ผู้ตายได้บอกจำเลยว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่และมอบคู่ฉบับพินัยกรรมนั้นให้แก่จำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล.4 ทั้งจำเลยยังมีนายคำตัน กันธเลิศ ปลัดอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่และนายสุทิน สุวรรณราช เจ้าหน้าที่ปกครอง 3 อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มาเบิกความยืนยันประกอบว่า นายคำตันและนายสุทินรับราชการที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ในขณะที่นายปกรณ์ ประพิณ เป็นนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ผู้ตายซึ่งเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่เคยไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยนายปกรณ์เป็นผู้ทำพินัยกรรมดังกล่าวให้ นายคำตันและนายสุทินลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว นายปกรณ์ได้อ่านพินัยกรรมดังกล่าวให้ผู้ตายและนายคำตัน นายสุทินฟังก่อนให้นายคำตันและนายสุทินลงลายมือชื่อปรากฏตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งโจทก์ก็แถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2528 ว่า นายปกรณ์ ประพิณ เป็นนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ในขณะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองเอกสารหมาย ล.4 และนายปกรณ์เป็นผู้จัดทำพินัยกรรมดังกล่าวให้ผู้ตาย ศาลฎีกาได้ตรวจดูพินัยกรรมดังกล่าวแล้วปรากฏว่ามีรายการระบุสถานที่ที่ทำพินัยกรรม วันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม ทำต่อหน้านายปกรณ์ นายคำตัน นายสุทิน รายการทรัพย์สินที่ยกให้จำเลย ผู้ตายมีสติสมบูรณ์ขณะทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านายอำเภอและพยาน มีลายมือชื่อผู้ตายผู้ทำพินัยกรรม ลายมือชื่อนายคำตัน และนายสุทินพยานรับรองพินัยกรรมและยังมีบันทึกของนายปกรณ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่รับรองว่าพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา (1) ถึง(3) ของมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลงวันที่เดือนปีที่ทำบันทึก มีลายมือชื่อนายปกรณ์ ประพิณ และประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญไว้ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.4 จริง และพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของมาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมายเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521 มีข้อความระบุไว้ด้วยว่า ทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวดังนั้น แม้ว่าผู้ตายมีทายาทโดยธรรมคนอื่นก็ตาม ทายาทโดยธรรมคนอื่นของผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ถนนอ้อมเมือง ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมนั้น ปรากฏตามโฉนดที่ดินดังกล่าวเอกสารหมาย ล.5และ ล.6 ว่า จำเลยซื้อมาจากผู้อื่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2523 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.4 แล้ว ดังนั้นถึงหากจะฟังว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ การที่รอยขีดฆ่าข้อความทรัพย์สินที่ยกให้ตามพินัยกรรมดังกล่าว ข้อ 4 และข้อ 6คือ ที่ดินที่ถนนประชาชื่น เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และที่ดินที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีออกแล้วมีลายมือเขียนกำกับไว้ข้างหน้าข้อ 4 ว่า ขายแล้วเมื่อ 8 กันยายน 2525 และที่ข้างหน้าข้อ 6 ว่า ขายแล้วให้นายดาบตำรวจกมล ไข่นาค และลงลายมือชื่อจำเลยกำกับไว้ข้างล่างด้วยนั้น ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยได้ขายที่ดินดังกล่าวไปในภายหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่กรรมซึ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรมดังกล่าวตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมนับตั้งแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้วจึงได้มีการขีดฆ่าและเขียนข้อความลงลายมือชื่อจำเลยไว้ในภายหลัง ดังนั้น การขีดฆ่ารายการทรัพย์สิน ข้อ 4 และข้อ 6 ในพินัยกรรมดังกล่าว ย่อมไม่ทำให้พินัยกรรมดังกล่าวเสียไปหรือตกเป็นโมฆะดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมา ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน