คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางปราโมทย์ จารุเสวก และนายวันชัยภาติกร ต่อมาบิดามารดาโจทก์ได้หย่ากัน บิดาโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับจำเลย ไม่มีบุตรด้วยกัน บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเพียง 2 คน คือ โจทก์และจำเลย ทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์มีทั้งสิ้นประมาณ 1,335,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับครึ่งหนึ่งประมาณ 667,500 บาท แต่เนื่องจากจำเลยได้โอนขายที่ดินที่กรุงเทพมหานครอันเป็นการยักย้ายทรัพย์มรดก จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกในส่วนที่ยักย้าย และส่วนนั้นต้องตกกลับมาเป็นของโจทก์คิดเป็นเงิน 125,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกทั้งสิ้นเป็นเงิน792,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดิน หากไม่ยอมแบ่งก็ขอให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ใช้ราคา 792,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

Share