คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3513/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้เข้ามาที่บริษัทซึ่งโจทก์เป็นที่ปรึกษาและกรรมการบริษัทและพูดกับพนักงานหญิงของบริษัทว่า “พวกนางดอกทอง ระวังตัวอย่ามาแย่งผัว” และเรียกพนักงานชายมาต่อว่าว่า “ระวังเมียเจ้าให้ดี อย่าให้มายุ่งกับผัวข้า” นั้นจำเลยกระทำไปด้วยอารมณ์หึงหวงเพื่อเป็นการป้องกันมิให้โจทก์กับพนักงานหญิงของบริษัทมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน อันจะเป็นสาเหตุทำให้โจทก์ละทิ้งจำเลยและบุตรของจำเลยหลายคนอันเกิดแต่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดเป็นการประพฤติชั่วอันทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องหย่าจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน มีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ 2 คน เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2526 จำเลยได้ด่าโจทก์และพนักงานหญิงทั่วไปในบริษัทต่าง ๆ ที่โจทก์เป็นที่ปรึกษาและกรรมการว่า โจทก์เป็นชู้กับพนักงานหญิงในบริษัท เรียกสามีของพนักงานหญิงในบริษัทไปบอกว่าภริยาเป็นชู้กับโจทก์และด่าประณามบุพการีของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความอับอาย ถูกดูหมิ่น ทำให้บุตรบริวาร และผู้ใกล้ชิดสิ้นความเคารพเชื่อถือโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันและให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์
จำเลยให้การว่า มิได้ประพฤติตามโจทก์ฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 9 คน ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 2 คน ปัญหามีว่า จำเลยได้กระทำการตามฟ้องอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้หรือไม่ โจทก์มีพยานปากเดียว คือ นายกุณฑลไชยเศรษฐ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีนี้ ซึ่งเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2526 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ขณะที่นายกุณฑลและพนักงานของบริษัททำงานอยู่ในบริษัท จำเลยได้เข้ามาที่บริษัทและพูดกับพนักงานของบริษัทว่า “พวกนางดอกทอง ระวังตัวอย่ามาแย่งผัว” และเรียกนายศุภชัยพนักงานคนหนึ่งของบริษัทมาต่อว่าว่า “ระวังเมียเจ้าให้ดี อย่าให้มายุ่งกับผัวข้า” จากนั้นจำเลยขึ้นไปด่าโจทก์ที่ชั้นสองประมาณ 20 นาที ก็ออกไปจากบริษัท ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังได้ดังคำเบิกความของนายกุณฑลว่า จำเลยได้ด่าพนักงานของบริษัทด้วยถ้อยคำหยาบคายดังกล่าว แต่จำเลยก็กระทำไปด้วยอารมณ์หึงหวงเพื่อเป็นการป้องกันมิให้โจทก์กับพนักงานหญิงของบริษัทมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน อันจะเป็นสาเหตุทำให้โจทก์ทิ้งจำเลยและบุตรของจำเลยหลายคนอันเกิดแต่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขนาดเป็นการประพฤติชั่วอันจะทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควร ซึ่งจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ แม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายกุณฑลต่อไปว่า หลังจากจำเลยออกไปจากบริษัทแล้ว โจทก์ได้ออกมาบอกนายกุณฑลว่า โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างมาก เนื่องจากถูกจำเลยด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่ก็ไม่ได้บอกนายกุณฑลว่าจำเลยด่าอย่างไร และต่อมาในเดือนตุลาคม 2526 โจทก์ได้รับโทรศัพท์แล้วมาเล่าให้นายกุณฑลฟังว่า จำเลยได้โทรศัพท์มาด่าและแช่งโจทก์ให้ตายเหมือนหมากลางถนนก็ตาม คำเบิกความของนายกุณฑลก็เป็นแต่เพียงได้รับบอกเล่ามาจากโจทก์มิได้รู้เห็นหรือได้ยินด้วยตนเอง ทั้งโจทก์ก็มิได้มาเบิกความสนับสนุนให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย ซึ่งจำเลยก็เบิกความปฏิเสธว่าไม่เคยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทั้งต่อหน้าและทางโทรศัพท์ พยานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังว่าจำเลยได้กระทำการตามฟ้องอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share