คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในคดีความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน1 ปี โจทก์ไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยแม้เป็นกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดก็ต้องรับฟังเป็นยุติดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ปรากฏจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยกับผู้เสียหายได้ตกลงกันว่า เมื่อจำเลยผ่อนชำระหนี้จนครบถ้วนตามที่ตกลงกันแล้วผู้เสียหายจึงจะถอนคำร้องทุกข์ จำเลยจึงขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงยอมความกันในทางอาญาจึงไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า มีข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยอันจะถือได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย การที่จำเลยฎีกาว่ามีการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยแล้ว จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้เรียงกระทงลงโทษ สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1 ก. (เช็คฉบับที่ 1) ลงโทษจำคุก 10 เดือน ตามฟ้องข้อ 1 ข. (เช็คฉบับที่ 2) จำคุก 10 เดือนตามฟ้อง ข้อ 1 ค. (เช็คฉบับที่ 3) จำคุก 10 เดือนตามฟ้องข้อ 1 ง.(เช็คฉบับที่ 4) จำคุก 1 ปี รวมวางโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 1 ปี 9 เดือน และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3215/2529 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และนับโทษจำเลยติดต่อกันด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้เรียงกระทงลงโทษ สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1 ก. (เช็คฉบับที่ 1) ลงโทษจำคุก 10เดือนตามฟ้องข้อ 1 ข. (เช็คฉบับที่ 2) จำคุก 10 เดือน ตามฟ้องข้อ 1 ค. (เช็คฉบับที่ 3) จำคุก 10 เดือน ตามฟ้องข้อ 1 ง. (เช็คฉบับที่ 4) จำคุก 1 ปี รวมวางโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษสำหรับความผิดสามกระทงแรกให้จำคุกกระทงละ 10 เดือน กระทงที่สี่จำคุก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือนลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 9 เดือน นั้น ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 21 วรรคสอง พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดสามกระทงแรกให้จำคุกกระทงละ 10 เดือน ความผิดกระทงที่สี่ให้จำคุก 1 ปีจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 โทษในความผิดสามกระทงแรกจำคุกกระทงละ 5 เดือนโทษกระทงที่ 4 จำคุก 6 เดือน รวมโทษทั้งสี่กระทงเป็นจำคุก 21 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยฎีกาแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายสำหรับข้อเท็จจริงนั้น คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีโจทก์ไม่จำต้องสืบพยานประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยดังนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จะเป็นกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดก็ต้องรับฟังเป็นยุติดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องดังนั้น ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้แต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายได้รับเช็คมาจากนางวรรณวรางค์วรรณศิริจีรัง ซึ่งนำมาแลกเงินสดจากผู้เสียหาย เป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญจึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อศาลฟังว่าข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยโดยผู้เสียหายยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ จนกว่าจะครบ เป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว กรณีจึงต้องวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลย โดยฟังว่าเป็นการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แล้ว นั้นปรากฏจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยกับผู้เสียหายได้ตกลงกันว่า เมื่อจำเลยผ่อนชำระหนี้จนครบถ้วนตามที่ตกลงกันแล้วผู้เสียหายจึงจะถอนคำร้องทุกข์ จำเลยจึงขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงยอมความกันในทางอาญาจึงไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่ามีข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยอันจะถือได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share