คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของบริษัท ว. แห่งประเทศอังกฤษก็ตาม แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวมิได้เข้ามาเป็นคู่ความ และไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายยการค้าดังกล่าวในประเทศไทย อันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 27,29 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทและขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้านี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายคลึงของโจทก์ และใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทต่อนายทะเบียนและจำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเป็นของบริษัทเวลโก้อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อน ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) นั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของบริษัทเวลโก้อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ก็ตาม แต่เมื่อบริษัทดังกล่าวมิได้เข้ามาเป็นคู่ความในสองสำนวนนี้ และไม่ปรากฏว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย อันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 27, 29 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท และขอให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้านี้ได้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share