คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยโอนขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านภายในระยะเวลา3 เดือนก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย แม้ผู้คัดค้านไม่ได้เป็นหรือไม่เคยเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อน แต่การโอนทรัพย์พิพาทเกิดจากการซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนทันทีที่คู่กรณีตกลงทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน ผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อมีหนี้ที่จะต้องชำระราคาแก่จำเลยผู้ขาย และจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระคือโอนทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันนั้นแก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115 ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านได้ และถ้าหากผู้คัดค้านไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทมาเป็นของจำเลยได้ ผู้คัดค้านก็ต้องชดใช้ราคาแทน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกบุคคลภายนอกผู้รับโอนทรัพย์พิพาทต่อจากผู้คัดค้านเข้ามาในคดีหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลในทางกฎหมายที่มีต่อผู้คัดค้านเปลี่ยนแปลงไป การเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยผลของกฎหมายตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่ จึงถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้อง กรณีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115 มิใช่เป็นการขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าเดิมจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7885 ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน)อำเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือตึกแถวเลขที่ 337/9 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2524 จำเลยได้โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่นายถาวร เง่าสุวรรณผู้คัดค้าน เพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนในราคา 1,500,000 บาทซึ่งการโอนดังกล่าวอยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย ถือได้ว่าจำเลยกระทำการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่กองทรัพย์สินของจำเลยเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
นายถาวร เง่าสุวรรณ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านซื้อที่ดินโฉนดแปลงพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วยความสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านไม่ได้เป็นและไม่เคยเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยการที่จำเลยโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้านจึงไม่ได้เป็นการโอนโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น เจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รู้เรื่องการโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อนวันร้องขอเพิกถอนการโอนนี้กว่า1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ นอกจากนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้สอบสวน ผู้คัดค้านยังได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจตนาทุจริตจดบันทึกข้อเท็จจริงไม่ตรงกับที่ผู้คัดค้านให้การและไม่ได้อ่านให้ผู้คัดค้านฟัง ทำให้ผู้คัดค้านได้รับความเสียหาย ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้อง (11 กรกฎาคม 2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนฟังเป็นยุติว่าจำเลยได้โอนขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านภายในกำหนดระยะเวลา3 เดือน ก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย และหลังจากผู้คัดค้านได้รับโอนมาเพียง 7 วันก็ได้โอนขายต่อให้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัดในราคา 2,000,000 บาท จึงต้องถือว่าทรัพย์พิพาทมีราคาในขณะโอน2,000,000 บาท ผู้คัดค้านฎีกาเถียงในข้อเท็จจริงว่า รายละเอียดที่ปรากฏตามคำให้การของผู้คัดค้านในเอกสารหมาย ร.1 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องได้บันทึกไว้ขณะสอบสวนผู้คัดค้านนั้นคลาดเคลื่อนไม่ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้คัดค้านยอมรับในเบื้องต้นว่าตนได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของรายละเอียดในบันทึกดังกล่าวแล้ว การที่จะมาโต้แย้งในภายหลังโดยปราศจากพยานหลักฐานอันมั่นคงหรือเหตุผลอันควรให้น่าเชื่อได้วา ข้อความที่ปรากฏในเอกสารไม่ตรงต่อความเป็นจริงดังที่ผู้คัดค้านได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาจึงยากที่จะรับฟังและปรากฏในคำให้การของผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ร.1 ว่าการซื้อขายทรัพย์ดังกล่าวผู้คัดค้านมิได้ชำระราคาทั้งหมด แต่ได้หักหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่ผู้คัดค้านบางส่วนออกจากราคาที่ซื้อกันเหลือจากนั้นจึงชำระราคาให้แก่จำเลยอย่างไรก็ตามแม้จะฟังว่าผู้คัดค้านไม่เคยรู้จักจำเลย ไม่ได้เป็นหรือไม่เคยเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อน แต่การโอนทรัพย์พิพาทเกิดจากการซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ทันทีที่คู่กรณีตกลงทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน ผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระราคาแก่จำเลย ผู้ขายและจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระคือโอนทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายนั้นให้แก่ผู้คัดค้านดังนั้น ผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เมื่อปรากฏว่าคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยได้เลย กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนการโอนนั้นเสียได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกบุคคลภายนอกผู้รับโอนต่อจากผู้คัดค้านเข้ามาในคดีหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลในทางกฎหมายที่มีต่อผู้คัดค้านเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านได้ หากผู้คัดค้านไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทมาเป็นของจำเลยได้ ผู้คัดค้านก็ต้องชดใช้ราคาทรัพย์พิพาทตามจำนวนที่ได้โอนให้แก่บุคคลภายนอกไปแก่กองทรัพย์สินของจำเลย ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องดอกเบี้ยตามที่ขอ
สำหรับปัญหาที่ว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความ 1 ปีหรือไม่นั้นเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 มิใช่เป็นการขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อายุความในกรณีเช่นนี้จึงมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว คดีของผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้คัดค้านอ้างอิงมาสนับสนุนคดีของผู้คัดค้านนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับปัญหาในคดีนี้จึงไม่อาจนำมาเป็นบรรทัดฐานเทียบเคียงได้ ฎีกาผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7885ตำบลถนนเพชรบุรี (ประแจจีน อำเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้าน หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทดังกล่าวมาเป็นของจำเลยได้ก็ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน 2,000,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลย”

Share