คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3144/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎกระทรวงฉบับที่ 28(พ.ศ. 2504) ข้อ 4 ที่ออกตามความในมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช 2473 มีความว่าในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้กำหนดจำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารแบบใช้เพลาที่จะจดทะเบียนได้ไม่เกิน 8,000 คันนั้น มีเจตนารมณ์ที่จะจำกัดจำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารโดยให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 8,000 คันจะรับจดทะเบียนเกินกว่านี้ไม่ได้ หาได้หมายความว่าถ้ายังจดทะเบียนไม่ครบจำนวนดังกล่าวแล้ว หากมีผู้มาขอจดทะเบียนอีกก็จะต้องรับจดทะเบียนให้จนครบจำนวนดังกล่าวไม่ เพราะอยู่ในดุลพินิจของนายทะเบียนที่จะเห็นสมควรตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้โดยสารผู้ใช้ถนนสัญจรไปมา และความสะดวกในการจราจร คณะกรรมการพิจารณาปัญหารถผิดกฎหมายและการประกอบการรถยนต์รับจ้างของ กระทรวงมหาดไทย เคยมีมติว่า ไม่ควรเพิ่มโควต้าป้ายทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีที่จะให้จำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อในกรุงเทพมหานครค่อย ๆ ลดลงไปตามลักษณะและการสิ้นสภาพของรถ ทั้งหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 27(พ.ศ. 2530) โดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 5(12) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ข้อ 2 ให้งดรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อในเขตกรุงเทพมหานคร แสดงให้เห็นนโยบายของรัฐบาลว่านอกจากจะจำกัดจำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อในกรุงเทพมหานครแล้วยังต้องการให้ลดจำนวนลงไปตามลักษณะการสิ้นสภาพของรถด้วยดังนั้น การที่จำเลยใช้ดุลพินิจไม่รับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารแบบใช้เพลาให้โจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเพื่อสนองนโยบายของ รัฐบาล ถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 28(พ.ศ. 2504) ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ควบคุมดูแลและรับจดทะเบียนรถประเภทต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรจำเลยที่ 2 เป็นนายทะเบียนยานพาหนะทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 3เป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่รับจดทะเบียนรถประเภทต่าง ๆ ในท้องที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน แบบใช้เพลาจำนวน 519 คันต่อจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่รับจดทะเบียนให้ การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช 2473 ข้อ 4 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้างดังกล่าวให้โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมจดทะเบียนภายในกำหนด ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
ก่อนจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 28(พ.ศ. 2504) กำหนดให้รถยนต์สามล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบใช้เพลาที่จะจดทะเบียนได้ไม่เกิน 8,000 คัน ขณะนี้นายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานครรับจดทะเบียนไปแล้ว 7,406 คัน โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนรถยนต์สามล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน แบบใช้เพลาจำนวน519 คันต่อจำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 2 ออกคำสั่งแจ้งจำเลยที่ 3ว่า ไม่อาจรับจดทะเบียนรถยนต์สามล้อจำนวนดังกล่าวได้ ตามมติของคณะกรรมการพิจารณาปัญหารถผิดกฎหมายและการประกอบการรถยนต์รับจ้างและมติของรัฐมนตรี อันเป็นการกระทำตามนโยบายของรัฐบาล จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2504) ลงวันที่ 12 เมษายน 2504ข้อ 4 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์พุทธศักราช 2473 ซึ่งมีความว่า ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีให้กำหนดจำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารแบบใช้เพลาที่จดทะเบียนได้ไม่เกิน 8,000 คัน โดยให้เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ไว้ว่า เนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่ใช้อยู่ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีมีจำนวนมากขึ้น จึงสมควรกำหนดจำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารแบบใช้เพลาเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร ซึ่งทำให้เห็นเจตนารมณ์ได้ว่าต้องการจำกัดจำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารโดยให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 8,000 คัน จะรับจดทะเบียนเกินกว่านี้ไม่ได้เท่านั้น หาได้หมายความว่า ถ้ายังรับจดทะเบียนไม่ครบจำนวน 8,000 คันแล้ว หากมีผู้มาขอจดทะเบียนอีกก็จะต้องรับจดทะเบียนให้จนครบจำนวนดังกล่าว เพราะอยู่ในดุลพินิจของนายทะเบียนที่จะเห็นสมควรตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้โดยสารผู้ใช้ถนนสัญจรไปมาและความสะดวกในการจราจร ยิ่งกว่านี้คณะกรรมการพิจารณาปัญหารถผิดกฎหมายและการประกอบการรถยนต์รับจ้างของกระทรวงมหาดไทยยังได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527 ตามเอกสารหมาย ล.8 หน้า 18 ด้วยว่า ไม่ควรเพิ่มโควต้าป้ายทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้ออีก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2518 ที่จะให้จำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อในกรุงเทพมหานครค่อย ๆ ลดลงไปตามลักษณะและการสิ้นสภาพของรถและให้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ๆ ในเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีทราบด้วย นอกจากนี้หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 27(พ.ศ. 2530) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(12) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2530 ข้อ 2 ให้งดรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อในเขตกรุงเทพมหานครอีกด้วย จึงยิ่งแสดงให้เห็นความมุ่งหมายของรัฐบาลที่มีนโยบายว่า นอกจากจะจำกัดจำนวนรถยนต์รับจ้างสามล้อในกรุงเทพมหานครแล้วยังต้องการให้ลดจำนวนลงไปตามลักษณะการสิ้นสภาพของรถด้วย การที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ใช้ดุลพินิจไม่รับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อบรรทุกคนโดยสารแบบใช้เพลาจำนวน 519 คันให้โจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2504) การกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3จึงฟังไม่ได้ ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฉะนั้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างสามล้อให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน.

Share