คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ผู้มีชื่อเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ไม่ทราบว่าเช็คพิพาทตกไปอยู่ในมือของโจทก์ได้อย่างไร โดยจำเลยมิได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยคบคิดกับผู้หนึ่งผู้ใดฉ้อฉลจำเลย ดังนี้ต้องถือว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริต การที่จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาอย่างไร ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยจะใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 905,และมาตรา 916 จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ลายมือที่ลงปีที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจะเป็นลายมือของจำเลยหรือไม่จำเลยไม่รับรองนั้น แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้ลงปีที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาท ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 ดังนั้น เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมายศาลชั้นต้นไม่ต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ และไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานในประเด็นดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาชุมแพ โดยชอบด้วยกฎหมาย 2 ฉบับ จำนวนเงิน 20,000 บาทและ 30,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย แล้วนำมาชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ตามเช็คแก่โจทก์ จำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินตามเช็คทั้งสองฉบับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 704 บาท รวมเงินที่จำเลยต้องรับผิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 50,704 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 50,704 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 50,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายลายมือที่ลงปีที่สั่งจ่ายในเช็คทั้งสองฉบับจะเป็นลายมือของจำเลยหรือไม่จำเลยไม่รับรอง เช็คตามฟ้องเป็นเช็คประกันเงินกู้ซึ่งจำเลยกู้จากผู้มีชื่อโดยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสามต่อเดือนจำเลยไม่เคยค้างชำระดอกเบี้ย เพิ่งค้างชำระเมื่อโจทก์ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เพราะไม่ทราบว่าเช็คทั้งสองฉบับตกอยู่กับโจทก์ได้อย่างไร โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ และเห็นว่าประเด็นดังกล่าวทั้งสองข้อเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,704 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นจะต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทอื่นและสืบพยานหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาชุมแพ 2 ฉบับ จำนวนเงิน 20,000 บาท และ 30,000 บาท ให้แก่ผู้ถือต่อมาเช็คทั้งสองฉบับนี้ตกไปอยู่ในมือของโจทก์ โจทก์นำเช็คสองฉบับนั้นไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาชุมแพ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คฉบับแรก และโปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายตามเช็คฉบับที่ 2 โจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยต่อสู้ว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายจริง แต่เป็นเช็คประกันเงินกู้ซึ่งจำเลยกู้จากผู้มีชื่อ โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสามต่อเดือน จำเลยไม่เคยค้างชำระดอกเบี้ย เพิ่งค้างชำระเมื่อโจทก์ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2530 เป็นต้นมาเท่านั้นจำเลยไม่ทราบว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับตกไปอยู่ในมือของโจทก์ได้อย่างไร จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยให้การต่อสู้เป็นทำนองว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่ผู้มีชื่อเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งมีดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วยก็ตาม แต่จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นมาโดยคบคิดกับผู้มีชื่อหรือผู้หนึ่งผู้ใดเพื่อฉ้อฉลจำเลย จำเลยคงอ้างแต่เพียงว่า ไม่ทราบว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นไปตกอยู่ในมือของโจทก์ได้อย่างไร ดังนั้นในเบื้องต้นจึงต้องถือว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาโดยสุจริต การที่จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาอย่างไร จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยจะยกขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ตามมาตรา 905 และมาตรา 916 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยและศาลชั้นต้นไม่ต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับจากผู้ทรงคนแรกโดยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่และไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานในประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ลายมือที่ลงปีที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับจะเป็นลายมือของจำเลยหรือไม่ จำเลยไม่รับรองนั้นเห็นว่า จำเลยรับว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับจริง และจำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่า ปีที่สั่งจ่ายซึ่งลงในเช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่ถูกต้องแท้จริง ฉะนั้นแม้จำเลยจะให้การต่อสู้ในเรื่องลายมือที่ลงปีที่สั่งจ่ายดังกล่าว ก็ไม่ทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดเพราะแม้จะรับฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้ลงปีที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 ดังนั้นเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และศาลชั้นต้นไม่ต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ และไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานในประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนข้อที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาว่า มูลหนี้ตามเช็คเกิดจากการเล่นการพนัน ระหว่างจำเลยกับผู้มีชื่อแล้วจำเลยเป็นฝ่ายเสียพนัน จึงสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ผู้มีชื่อเป็นหลักฐานของการกู้เงินนั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เช่นนั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share