คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2674/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยลักทรัพย์สำเร็จแล้ว ขณะหลบหนี ญ. ผู้ดูแลรักษาทรัพย์นั้นได้วิ่งไล่จับจำเลย จำเลยสะบัดหลุดแล้วใช้มีดแทง ญ. ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันยังไม่ขาดตอนจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยใช้มีดแทง ญ. เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 371,91, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และริบมีดปลายแหลม 1 เล่ม ค้อน 1 ด้าม ส่วนป้ายโฆษณาหาเสียง 4 แผ่นคืนผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา339 วรรคสอง และวรรคสาม, 371 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ให้เรียงกระทงลงโทษ ข้อหาความผิดฐานชิงทรัพย์ให้ลงโทษตามมาตรา 339 วรรคสามจำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธตามมาตรา 371 ปรับ 80 บาท รวมเป็นโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 80 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นนักศึกษาเพิ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรกลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 5 ปีปรับ 40 บาท ค้อนและมีดของกลางให้ริบ ป้ายโฆษณาหาเสียง 4 แผ่นคืนผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงการกระทำความผิดของจำเลยว่า การที่จำเลยกับพวกรื้อป้ายโฆษณาหาเสียงจำนวน 4 ป้าย จากที่ติดตั้งและนำไปกองรวมกันห่างจากจุดที่รื้อประมาณ 10 เมตร ถือว่าการลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จแล้วและการที่จำเลยใช้มีดแทงนายใหญ่ที่วิ่งไล่จับจำเลย ขณะที่จำเลยหลบหนีหลังจากที่จำเลยสะบัดหลุดจากการจับเมื่อนายใหญ่พบเห็นการกระทำผิดที่จำเลยลักทรัพย์แล้ว ถือว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เพื่อให้พ้นจากการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงเข้าเกณฑ์ความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งตามคำวินิจฉัยดังกล่าวหมายความว่าการที่จำเลยลักทรัพย์สำเร็จแล้วหลบหนีและในขณะที่นายใหญ่วิ่งไล่จับจำเลยต่อเนื่องกัน จำเลยก็ใช้มีดแทงนายใหญ่อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุมซึ่งเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์นั่นเองที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “ถือว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกัน”นั้นหมายความเพียงว่า การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายนายใหญ่เป็นเวลาติดต่อกัน และยังไม่ขาดตอนจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน

Share