คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ได้ตอกบัตรลงเวลาทำงานโดยไม่ได้ทำงานตามเวลาที่มีการตอกบัตร จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาถึงเหตุและพฤติการณ์ด้วยว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างไร การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ป่วย ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานให้ลาได้เพื่อวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ไม่อยู่ทำงานนั้นเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยตามประเด็นพิพาทที่กำหนดว่าโจทก์กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังตามพยานหลักฐานของจำเลยว่าการที่โจทก์ตอกบัตรลงเวลาทำงาน แล้วหยุดงานโดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการโรงงาน เป็นการปฏิบัติผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่รับฟังว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดจากหัวหน้างาน จึงมิได้ปฏิบัติผิดข้อบังคับของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงิน 1,860 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเมื่อวันที่ 26 และ27 กันยายน 2531 โจทก์มาทำงานในตอนเช้า แล้วได้ออกจากที่ทำงานไปทำธุระส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการขาดงานทั้งสองวัน โจทก์เข้ามาตอกบัตรในที่ทำงานตอนเย็นเพื่อเป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้ทำงานตลอดทั้งวัน มีสิทธิได้รับค่าจ้าง โดยมีเจตนาทุจริต เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์กระทำผิดข้อบังคับอย่างร้ายแรงโดยทำหลักฐานว่าโจทก์ทำงาน ซึ่งไม่เป็นความจริงตามคำให้การของจำเลยหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ได้ตอกบัตรลงเวลาทำงานโดยโจทก์ไม่ได้ทำงานตามเวลาที่มีการตอกบัตร อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 ล.3 ย่อมแสดงว่า โจทก์มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ป่วยได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานให้ลาหยุดงานแล้ว การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังกล่าวพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โจทก์ได้ตอกบัตรลงเวลาทำงานโดยโจทก์ไม่ได้ทำงานตามเวลาที่มีการตอกบัตร จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาถึงเหตุและพฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ได้อยู่ทำงานตามเวลาที่มีการตอกบัตรลงเวลาทำงานด้วยว่า เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์นำสืบถึงเหตุที่โจทก์ไม่ได้อยู่ทำงานตามเวลาที่มีการตอกบัตรลงเวลาทำงานว่าโจทก์ป่วยไม่อาจอยู่ทำงานได้ นายสมบูรณ์ หัวหน้างานได้อนุญาตให้โจทก์ลาป่วยได้ ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ป่วยได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานให้ลาได้นั้น ก็เพื่อวินิจฉัยว่าที่โจทก์ไม่อยู่ทำงานนั้น เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ จึงหาเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่โจทก์ไม่อยู่ทำงานตามเวลาที่มีการตอกบัตรลงเวลาทำงาน เนื่องจากโจทก์ป่วยโดยได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานให้ลาได้ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่เป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2 ข้อ 4 และข้อ 5 ระบุว่า เมื่อพนักงานปั๊มบัตรลงเวลาทำงานแล้วห้ามออกนอกบริเวณโรงงานก่อนได้รับอนุญาตจากผู้จัดการโรงงาน หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบริเวณโรงงานต้องเขียนใบลาเสนอให้ผู้จัดการโรงงานอนุมัติเท่านั้น บุคคลตำแหน่งต่ำกว่านี้ไม่มีอำนาจอนุมัติ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องจัดให้มีตามข้อ 68(6) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารเกี่ยวกับข้อบังคับดังกล่าวมาแสดงต่อศาลเพื่อวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยหรือไม่ กรณีนี้ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลใดเบิกความเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารดังกล่าว ที่ศาลรับฟังว่า นายสมบูรณ์ โหรี หัวหน้างานมีอำนาจให้โจทก์ลาออกนอกบริเวณโรงงานได้ เป็นการรับฟังพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ เป็นการอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังตามพยานหลักฐานของจำเลยว่า การที่โจทก์ปั๊มบัตรลงเวลาทำงาน แล้วหยุดงานโดยไม่ได้รับอนุมัติจากนายเกรียงศักดิ์ ศรีทา ผู้จัดการโรงงาน เป็นการปฏิบัติผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่รับฟังว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดจากนายสมบูรณ์ โหรี หัวหน้างาน โจทก์จึงมิได้ปฏิบัติผิดข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share