คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า “กรรมการ” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1172 วรรคแรก หมายถึงคณะกรรมการมิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนเมื่อกรรมการคนใดเห็นควรจะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณา กันเสียก่อนและมติของกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เมื่อผู้คัดค้านเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว การนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.ลักษณะหุ้นส่วนและบริษัท แต่ก็หาทำให้การประชุมใหญ่และการลงมติที่ได้เกิดขึ้นจริงไม่เป็นการประชุมใหญ่และการลงมติตามกฎหมายไม่ ดังนั้น การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงต้องร้องขอภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันลงมติตามมาตรา 1195.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและเพิ่มเติมคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นบริษัทโซคาสตรีม ซัพพลาย จำกัดครั้งที่ 1/2528
นางสุชาดา ธนะรัชต์ และนางสาวสกุลณี ศุกระพรรณา ยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านทั้งสองมีสิทธิเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพราะเป็นมติของกรรมการส่วนใหญ่ ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวภายใน 1 เดือน นับแต่วันลงมติจึงหมดสิทธิที่จะขอเพิกถอนแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2528 ว่าได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นบริษัทโซดาสตรีม ซัพพลายจำกัด ครั้งที่ 1/2528 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2528 ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 29เมษายน 2528 พ้นกำหนดที่จะขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนี้
ศาลชั้นต้นสอบคู่ความเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าว และเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้อง แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1172 การเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นต้องกระทำโดยคณะกรรมการของบริษัทกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือกรรมการส่วนใหญ่หามีสิทธิเรียกประชุมใหญ่ และการเรียกประชุมจะต้องผ่านมติของคณะกรรมการเสียก่อน ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการนัดเรียกประชุมกรรมการตามมาตรา 1162 คดีนี้ผู้คัดค้านทั้งสองได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นโดยพลการ การเรียกประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการนัดเรียกประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว การประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยการประชุมของผู้ถือหุ้นเช่นนี้ จึงมิใช่การประชุมใหญ่ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การร้องขอให้เพิกถอนจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1195 ซึ่งต้องกระทำภายในเดือนหนึ่ง ศาลอุทธรณ์มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยทั้งที่ผู้ร้องได้ยกปัญหานี้ขึ้นมาในอุทธรณ์ด้วยนั้น ปรากฏว่าบริษัทโซดาสตรีม ซัพพลาย จำกัด มีกรรมการ 3 คน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสอง การเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2528 กระทำโดยผู้คัดค้านทั้งสองโดยผู้คัดค้านที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมในปัญหาว่าผู้คัดค้านทั้งสองมีอำนาจเรียกประชุมดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1172 วรรคแรก บัญญัติว่ากรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่เห็นสมควรศาลฎีกาเห็นว่า คำว่ากรรมการตามบทมาตรานี้หมายถึงคณะกรรมการมิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน การจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือไม่ กรรมการคนหนึ่งคนใดชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1162 มติของกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1161 คดีนี้ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นบริษัทโซดาสตรีม ซัพพลาย จำกัด ครั้งที่ 1/2528โดยพลการ มิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้นการนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทซึ่งมาตรา 1195 บัญญัติว่า การขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่จะต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น การนัดเรียกประชุมใหญ่โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นนี้ หาทำให้การประชุมใหญ่และการลงมติที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นการประชุมใหญ่และการลงมติตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่ผู้ร้องอ้างอิงในฎีกาไม่ ในปัญหาว่าจะยกคำร้องขอของผู้ร้องเพราะเหตุผู้ร้องมิได้ร้องให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นบริษัทโซดาสตรีม ซัพพลาย จำกัด ครั้งที่ 1/2528ภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติได้หรือไม่ ปัญหานี้แม้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้ยกขึ้นวินิจฉัย แต่ผู้คัดค้านทั้งสองก็ได้ยกปัญหานี้เป็นประเด็นขึ้นมาในคำแก้ฎีกาด้วย ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานี้ไปเสียเลย ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การนัดเรียกประชุมใหญ่โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ทำให้การประชุมใหญ่และการลงมติเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไปด้วยเท่านั้น หาได้ทำให้ไม่เป็นการประชุมใหญ่และการลงมติตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ ดังนั้นการร้องให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1195 ผู้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของผู้ถือหุ้นบริษัทโซดาสตรีม ซัพพลาย จำกัด ในการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2528 เมื่อพ้นกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมติดังนั้นศาลจึงต้องยกคำร้องขอของผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share