คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีแพ่ง จำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย เมื่อครบกำหนดตามคำบังคับแล้ว จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ศาลออกหมายบังคับคดี ปรากฏว่า จำเลยมีเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์เหลือประมาณ 400 บาท และ 200 บาทตามลำดับ และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยนำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดแก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยไม่นำเงินมาชำระ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สิที่จะพึงยึดมาชำระหนี้จำนวน 391,213.21 บาท ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 218/2529 ของศาลชั้นต้นโดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี นับจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2524จนกว่าชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 142,224.65 บาทกับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ3,000 บาท เมื่อครบกำหนดตามคำบังคับแล้ว จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2529 มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นายพิศพงศ์ งามพัฒนพงศ์ชัย พยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นทนายความโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 218/2529 ของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์มอบให้พยานดำเนินการบังคับคดีแทน พยานได้ตรวจสอบบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาเสาชิงช้า ปรากฏว่าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 400 บาท และจำเลยมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสาธร ประมาณ 200 บาท นอกจากนี้จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดที่จะบังคับคดีได้ เห็นว่า จำเลยเป็นหนี้จำนวนมาก เมื่อนายพิศพงศ์ พยานโจทก์ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ดำเนินการบังคับคดีแล้ว น่าเชื่อว่าพยานต้องติดตามตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยก่อนที่จะนำยึดตามหมายบังคับคดี การที่พยานทราบว่าเงินในบัญชีของจำเลยเหลือเท่าใด แสดงให้เห็นได้ว่าพยานได้ติดตามตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยแล้ว นางกรรณิกา บุญยรักษ์ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 218/2529 ของศาลชั้นต้นพยานได้ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่กรมที่ดิน 1 ครั้ง ไม่พบทรัพย์สินของจำเลย ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 126/2528 ของศาลแพ่ง จำเลยมีเงินฝากในธนาคารจำนวนมาก นั้น ก็เป็นเวลาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ประมาณ 1 ปี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเงินจำนวนนั้นคงมีอยู่จำนวนมากหรือเท่าเดิมขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ข้อที่จำเลยอ้างว่ามีทรัพย์สินเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 155 ถนนพระอาทิตย์แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างมีราคาประมาณ 2,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แต่ที่ดินดังกล่าวมีชื่อนายสมพล ทัศนารมย์ สามีจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งนายสมพลได้ที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของนายสมพล แม้ฎีกาของจำเลยก็ยอมรับว่าเป็นสินส่วนตัวของนายสมพล จำเลยจึงไม่มีอำนาจไปจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้โจทก์ได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นและเป็นเจ้าหนี้ในการค้าเพชรพลอยประมาณ 1,000,000 บาท ก็เป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ฟังไม่ได้ดังที่อ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งจำเลยเป็นหนี้โจทก์เกินกว่า 50,000 บาทและเป็นหนี้ที่กำหนดได้จำนวนแน่นอนที่ศาลล่างทั้งสองสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดมานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share