แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินได้ที่โจทก์ได้รับครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานนั้นมีวิธีการคำนวณจ่ายตามระเบียบของบริษัทผู้เป็นนายจ้าง แตกต่างจากวิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญ การคำนวณหาเงินได้พึงประเมินที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสาม จึงต้องเป็นไปตามข้อ 3ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2)เรื่อง กำหนดระเบียบการคำนวณเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)และ (2) แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานโดยคำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานที่ใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสามแห่ง ป. รัษฎากร.
เงินได้พึงประเมินที่นายจ้าง จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานไม่ว่าจะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) หรือ(2) แห่ง ป.รัษฎากรก็ตามก็ต้องนำมาคำนวณหาเงินได้พึงประเมินที่ใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสาม แห่ง ป.รัษฎากรทั้งสิ้น ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2).
คำว่า เงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายและเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ย ของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงาน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้(ฉบับที่ 2) หมายความถึงเงินได้ที่ได้รับในระยะเวลาดังกล่าวทั้งหมด มิได้หมายความถึงเฉพาะเงินเดือนซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่ง ป.รัษฎากร เพียงอย่างเดียว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2496 จนกระทั่งออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุในปี 2527 บริษัทได้จ่ายเงินให้โจทก์ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 1,199,725 บาท และโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาสำหรับ พ.ศ. 2528 ให้จำเลยถูกต้องแล้ว แต่เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่าโจทก์คำนวณเสียภาษีไม่ถูกต้อง จึงแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่มเป็นเงิน94,083 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2528 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถูกต้องตามมาตรา42 ทวิ วรรคสาม และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 10 มีนาคม 2518 การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ กบ.1048/1/01326 ลงวันที่ 9 มกราคม 2530และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 7/2531/1 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2530
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร วินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มาตรา42 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า “ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) เป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานโดยคำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด…” ส่วนประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2) เรื่องกำหนดระเบียบการคำนวณเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานโดยคำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงาน ที่ใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสามแห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 10 มีนาคม 2518 ตามเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่า
“ข้อ 1 การคำนวณเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2)แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานโดยคำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงาน ที่จะนำมาหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา42 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ข้อ 2………
ข้อ 3 ในกรณีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานมีวิธีคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตามข้อ 2 เงินได้พึงประเมินดังกล่าวนำมาหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรได้เท่ากับจำนวนที่จ่าย แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน
เงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่เกินเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงาน บวกด้วยร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น”
ศาลฎีกาเห็นว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงานจำนวน 1,199,725 บาทนั้น มีวิธีการคำนวณจ่ายตามระเบียบของบริษัทผู้เป็นนายจ้าง แตกต่างจากวิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญการคำนวณหาเงินได้พึงประเมินที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายจึงต้องเป็นไปตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2) ดังกล่าว กล่าวคือโจทก์สามารถนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับมาหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา42 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ได้เท่ากับจำนวนที่นายจ้างจ่ายให้ แต่ต้องไม่เกินเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน และเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานบวกด้วยร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น โจทก์อ้างว่าเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้าย และเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานตามประกาศดังกล่าวหมายถึงเงินได้ที่โจทก์ได้รับจริงในระยะเวลาดังกล่าวทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม ส่วนจำเลยอ้างว่าเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายและเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ยหมายถึงเฉพาะเงินเดือนที่โจทก์ได้รับในระยะเวลาดังกล่าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่รวมถึงเงินได้อื่น เห็นว่า เงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้โจทก์ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานไม่ว่าจะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1)หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม ก็จะต้องนำมาคำนวณหาเงินได้พึงประเมินที่ใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรทั้งสิ้นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2) ทั้งตามประกาศดังกล่าวมิได้ใช้คำว่าเงินเดือน แต่ใช้คำว่าเงินได้ ดังนั้น คำว่าเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายและเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานจึงหมายความถึงเงินได้ที่โจทก์ได้รับภายในระยะเวลาดังกล่าวทั้งหมด มิได้หมายความถึงเฉพาะเงินเดือนซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรเพียงอย่างเดียวตามที่จำเลยอ้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 55,771 บาท เกินกว่าเงินได้รายเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานบวกด้วยร้อยละ10 ของเงินถัวเฉลี่ยนั้น ซึ่งคำนวณได้เป็นเงิน 39,255.43 บาทจึงต้องถือว่าเงินได้สำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายที่จะนำมาคูณด้วย 31 ซึ่งเป็นจำนวนปีที่โจทก์ทำงานเพื่อหาจำนวนเงินได้พึงประเมินที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรนั้น เท่ากับ 39,255.43 บาท แต่เมื่อคำนวณแล้วได้ผลลัพธ์เท่ากับ 1,216,918.33 บาท เกินกว่าจำนวนเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน โจทก์จึงมีสิทธินำเงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้เพราะเหตุออกจากงาน1,199,725 บาท มาหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรได้หมดทั้งจำนวนตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรว่าด้วยภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 2) ดังกล่าว ปรากฏว่าเงินได้ที่โจทก์ถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2528 เอกสารหมาย จ.2 เป็นเงิน 1,187,285.02 บาท น้อยกว่าจำนวนที่นายจ้างจ่ายให้ การคำนวณค่าใช้จ่ายของโจทก์ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ดังกล่าวจึงชอบแล้วการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน