แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายได้พูดยกที่ดินมือเปล่าให้แก่บุตรแต่ละคน โดยบุตรคนไหนปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนใดก็ยกที่ดินส่วนนั้นให้ โจทก์ซึ่งเป็นบุตรเจ้ามรดกได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทและได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปขอรับมรดกที่ดินพิพาท ซึ่งมี ส.ค.1 แล้วขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา จึงหาทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งได้รับการยกให้จากบิดา โจทก์ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเกินกว่า10 ปี แล้ว ต่อมาจำเลยได้ขอออก น.ส.3 ในที่ดินพิพาทในนามของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรังวัดจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตาม น.ส.3ส่วนที่เป็นของโจทก์แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ทั้งสองได้มาขออาศัยที่ดินพิพาทของจำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยจำเลยได้ขอออก น.ส.3 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเอาคืน ซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยรังวัดจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทขณะที่นางผิงนายรอดยังมีชีวิตอยู่ หาใช่โจทก์ทั้งสองเพิ่งมาขออนุญาตจำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2514 ดังที่จำเลยนำสืบไม่ ทั้งข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ต่อไปว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 หรือ จ.12 เป็นพินัยกรรมของนายรอดอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่บรรดาทายาทของนายรอดจะต้องมาตกลงแบ่งทรัพย์มรดกดังที่จำเลยอ้างกันอีก และโดยเหตุที่พินัยกรรมของนายรอดดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงที่ดินอันเป็นที่บ้านตาม ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทนี้ด้วย กรณีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า นายรอดได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่บุตรของตนที่ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินแปลงนั้นไปแล้วโดยบุตรคนไหนปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนใดก็ยกที่ดินส่วนนั้นให้ดังที่โจทก์ทั้งสองนำสืบ ดังนั้นพินัยกรรมของนายรอดจึงมิได้กล่าวถึงที่ดินตาม ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1 อีก เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา แม้ต่อมาภายหลังจำเลยจะไปขอรับมรดกที่ดินตาม ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.1 แล้วขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วย แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาเช่นนี้ หาทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยไปขอทำการรังวัดจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามแผนที่วิวาทฉบับรังวัดวันที่ 14 สิงหาคม 2526 ให้โจทก์ที่ 1 ได้ภายในเส้นสีเขียว โจทก์ที่ 2 ได้ภายในเส้นสีแดงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน