คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นหนี้ของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ในหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เท่านั้นเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1เด็ดขาด วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 และพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2เด็ดขาด เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2529 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยภายหลังวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 100 แม้จำเลยที่ 2 จะมีข้อตกลงกับเจ้าหนี้ดังกล่าวยอมรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ก็ตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ร้องขอให้ จำเลยที่ 2หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ล้มละลายตามจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นให้เจ้าหนี้ ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เพราะฉะนั้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีจำกัดจำนวนและจะต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 เมื่อได้ความว่าหนี้ที่เจ้าหนี้รายที่ 5 ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ที่เป็นหนี้ เจ้าหนี้รายที่ 5 มิใช่เป็นหนี้ของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัว ดังนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้รายที่ 5 เท่านั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 เด็ดขาด วันที่ 10 กรกฎาคม 2528เจ้าหนี้รายที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยภายหลังวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 100 แม้จำเลยที่ 2 และเจ้าหนี้รายที่ 5 จะมีข้อตกลงในสัญญาดังที่เจ้าหนี้รายที่ 5 อ้างมา เจ้าหนี้รายที่ 5ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2529 ที่เจ้าหนี้รายที่ 5 ฎีกาว่า ดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แม้ไม่เป็นหนี้ที่พึงขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลายแต่ลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 229/2506 นั้น ได้พิเคราะห์แล้วคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ เพราะคดีนี้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาเจ้าหนี้รายที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share