คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนด เป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยโดยไม่ปรากฏเหตุผลจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ คำพิพากษาศาลล่างไม่ได้ระบุว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามวรรคใด ศาลสูงแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามทำไม้สักอันเป็นไม้หวงห้ามประเภทก. …ภายในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. …ไว้ในครอบครองโดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและจำเลยทั้งสามพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31, 35 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 7, 11, 69, 74, 74 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ริบของกลาง จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา7, 11, 69, 74, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ให้ลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 5,000 บาทและฐานมีไม้หวงห้ามจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท รวมจำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษตามกฎหมายและขอไม่ให้รอการลงโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษให้จำเลยทั้งสามเมื่อไม่รอการลงโทษแล้วก็ไม่ปรับจำเลยทั้งสาม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามต่ำกว่าอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเมื่อโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ จึงเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยโดยไม่ปรากฏเหตุผล เป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิด 2 ข้อหาคือร่วมกันทำไม้โดยตัดฟัน โค่น เลื่อย และชักลากไม้สัก ไม้รังไม้ประดู่และไม้ทะโล้ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไม้สัก ไม้รัง ไม้ประดู่และไม้ทะโล้ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 69, 74,74 ทวิ ที่แก้ไขแล้วซึ่งความผิดข้อหาแรกเป็นกรณีที่ต้องด้วยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสองต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000บาท ถึง 150,000 บาท ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยทั้งสามในข้อหานี้โดยให้จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 5,000 บาท จึงเป็นการลงโทษต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบ และในข้อหาที่สองเป็นกรณีที่ต้องด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่5,000 บาท ถึง 200,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยทั้งสามในข้อหานี้โดยให้จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท จึงเป็นการลงโทษปรับต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกันแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่ปรับ ซึ่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน และคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ได้ระบุว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามวรรคใด เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้วพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้วฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้จำคุกคนละ 2 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามให้จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ของกลางให้ริบ

Share