แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การตอกเสาเข็มและการขุดดินทำห้องใต้ดินบริเวณก่อสร้างของจำเลยทำให้บ้านของโจทก์และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นได้รับความเสียหายแม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ตอกเสาเข็มเองแต่ก็ได้ว่าจ้างบริษัทอื่นทำและจำเลยควบคุมการตอกเสาเข็มให้ถูกต้องตามจำนวนและตอกตรงจุดที่กำหนดให้ตอก ดังนี้การตอกเสาเข็มดังกล่าวกระทำไปตามคำสั่งหรือคำบงการของจำเลยความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการกระทำตามคำสั่งของจำเลยโดยตรง จำเลยจึงหาพ้นจากความรับผิดตามป.พ.พ. มาตรา 428 ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมแกรนด์วิลล์โปรเจ็ค 2ห่างจากรั้วบ้านของโจทก์ประมาณ 3 เมตรขณะจำเลยที่ 1 ดำเนินการตอกเสาเข็มคอนกรีตจำนวนมาก จำเลยที่ 1 มิได้ป้องกันการสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มคอนกรีตและการเคลื่อนตัวของดินบริเวณข้างเคียงเป็นเหตุให้ตัวบ้านของโจทก์สามหลังเสียหาย หากจะซ่อมแซมต้องเสียเงิน 1,450,000 บาท และบ้านเลขที่ 41 ของโจทก์มีผู้มาติดต่อขอเช่าเดือนละ 10,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองช่วยกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,450,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงในอนาคตที่เพิ่มขึ้นอีก 30 เปอร์เซนต์ กับค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ตอกเสาเข็มการตอกเสาเข็มเป็นการกระทำโดยชอบ ไม่ได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ตอก บ้านโจทก์เป็นบ้านเก่ามากทรุดโทรมตามสภาพค่าเสียหายไม่เกิน 25,000 บาท และไม่สามารถให้เช่าได้ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท ค่าก่อสร้างไม่ได้เพิ่มขึ้นดังที่โจทก์ฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 695,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องใช้ให้โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือน ให้จำเลยทั้งสองชำระเดือนละ3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหามีว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด นอกจากโจทก์ทั้งสองอ้างตนเองเป็นพยานแล้วยังมีนายสุธน ตรีไตรลักษณะ นายพินิตตั้งบุญเติม ซึ่งสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต และเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ภาควิศวกรรมโยธาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้ามาเบิกความยืนยันประกอบว่า จากการตอกเสาเข็มของจำเลยทำให้บ้านโจทก์ทั้งสามหลังและรั้วบ้านโจทก์ที่กั้นระหว่างบ้านโจทก์กับบริเวณก่อสร้างของจำเลยได้รับความเสียหายเนื่องจากเสาเข็มที่ตอกทำให้ดินเคลื่อนตัวออกดันมาทางบ้านโจทก์และการขุดดินทำห้องใต้ดินทำให้ดินเคลื่อนตัวกลับเป็นเหตุให้ผนังครัวและห้องน้ำของบ้านเลขที่ 39 ของโจทก์ล้มลง ทำให้รอยแตกขยายตัวออกมากขึ้นโดยให้เหตุผลปรากฏรายละเอียดตามหลักวิชาเอกสารหมาย จ.24 ยิ่งกว่านี้โจทก์ยังมีนายฉลอง ศรีใส ข้าราชการประจำกองควบคุมอาคารสำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร มาเบิกความสนับสนุนประกอบใจความทำนองเดียวกับคำเบิกความของนายสุธนและนายพินิตอีกด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามมาตรวจสอบความเสียหายตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงถือได้ว่าเป็นคนกลางเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ปรากฏโดยอาศัยหลักวิชาและไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด ทั้งจำเลยที่ 2 ยังเบิกความรับว่าการตอกเสาเข็มมีผลทำให้บ้านข้างเคียงเสียหายด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการตอกเสาเข็มและการขุดดินทำห้องใต้ดินบริเวณก่อสร้างของจำเลยทำให้บ้านของโจทก์และสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นได้รับความเสียหาย จริงอยู่จำเลยมิได้เป็นผู้ตอกเสาเข็มเองแต่ก็ได้ว่าจ้างบริษัทอื่นทำอย่างไรก็ตามจำเลยที่ 2 ได้เบิกความว่า จำเลยมีหน้าที่ควบคุมการตอกเสาเข็มให้ถูกต้องตามจำนวนและตอกตรงจุดที่กำหนดให้ตอก จึงเห็นได้ว่าการตอกเสาเข็มดังกล่าวกระทำไปตามคำสั่งหรือคำบงการของจำเลยความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการกระทำตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองโดยตรง จำเลยทั้งสองจึงหาพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ปัญหาว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาจากรายละเอียดความเสียหายตามหลักวิชาเอกสารหมาย จ.24 ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ซึ่งนายสุธนและนายพินิตเป็นผู้จัดทำและประเมินราคาไว้ประกอบกับภาพถ่ายความเสียหายหมาย จ.15 (รวม 60 ภาพ)และรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 ที่ศาลชั้นต้นออกไปเผชิญสืบดูความเสียหายของบ้านโจทก์ซึ่งปรากฏว่าได้รับความเสียหายจริงแล้ว เชื่อว่าความเสียหายที่ประเมินราคาไว้ตามเอกสารหมาย จ.24 ซึ่งคิดเป็นเงินรวม 695,300 บาท นั้นเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับความเสียหายที่แท้จริงที่โจทก์ได้รับ จึงให้จำเลยชดใช้ความเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการให้ผู้อื่นเช่าบ้านเลขที่ 41 ของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ให้ผู้ใดเช่า ที่โจทก์เบิกความว่า มีชาวต่างประเทศเสนอขอเช่าบ้านเลขที่ 41 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 12,000 บาท แต่โจทก์กลัวจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เช่าเนื่องจากการก่อสร้างของจำเลย โจทก์จึงไม่ยอมให้เช่านั้น เป็นแต่เพียงการคาดหมายของโจทก์เท่านั้นยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์ในค่าเช่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์