คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2097/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสมาคม ศ. เป็นการกระทำต่อสมาคม ศ. ซึ่งเป็นนิติบุคคล มิได้กระทำต่อโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคณะกรรมการของสมาคม ศ. เป็นส่วนตัว และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายทะเบียนสมาคมจังหวัดได้ประกาศขีดชื่อสมาคม ศ.ออกจากทะเบียนสมาคมแล้ว อันเป็นเหตุให้สมาคม ศ.ต้องเลิกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1292(7) ไม่ได้เป็นนิติบุคคลอีกต่อไป โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการของสมาคม ศ. ในขณะนั้นจึงต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการของสมาคม ศ. ไปด้วย ไม่มีอำนาจหน้าที่หรือความสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกันอีก แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามจากบุคคลอื่น และอาจถูกสมาชิกของสมาคม ศ. เรียกร้องค่าเสียหายได้นั้นก็เป็นความรู้สึกและคาดคิดส่วนตัวของโจทก์ทั้งเจ็ดเอง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเนื่องจากการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1ดังกล่าว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยอันจะมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติพ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2486 มาตรา 10, 11, 14 ข้อบังคับสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องควบคุมสมาคมและองค์การต่าง ๆ ข้อ 4, 15พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2522มาตรา 5, 9, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 ศาลชั้นต้นประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่าวันที่ 29 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ลงนามในคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ 520/2524 เพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมศาสนาสัมพันธ์เลขที่ ต.215/2518 ลงวันที่ 25 กันยายน 2518 โดยอ้างเหตุว่าสมาคมศาสนาสัมพันธ์ดำเนินงานเป็นไปในทางนำความเสื่อมเสียมาสู่วัฒนธรรมแห่งชาติ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของประชาชนอีกทั้งได้กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติและฝ่าฝืนข้อปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการควบคุมสมาคมและองค์การต่าง ๆ โจทก์ที่ 1 ลงนามแทนนายกสมาคมศาสนาสัมพันธ์อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในฐานะนายทะเบียนสมาคมจังหวัดราชบุรีได้ประกาศขีดชื่อสมาคมศาสนาสัมพันธ์ออกจากทะเบียนสมาคมจังหวัดราชบุรีเมื่อวันที่30 ธันวาคม 2524 คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) หรือไม่เห็นว่าสมาคมศาสนาสัมพันธ์ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งจากอธิบดีกรมการศาสนาตามใบอนุญาตเลขที่ ค.215/2518 ลงวันที่ 25 กันยายน 2518 ตามเอกสารหมาย จ.12 และสมาคมศาสนาสัมพันธ์ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2518 ทะเบียนเลขที่ 1337 ตามเอกสารหมาย จ.9สมาคมศาสนาสัมพันธ์จึงเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1282 ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ 530/2524 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2524 เพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมศาสนาสัมพันธ์ เลขที่ ค.215/2528 ลงวันที่25 กันยายน 2518 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำต่อสมาคมศาสนาสัมพันธ์ซึ่งเป็นนิติบุคคลมิได้กระทำต่อโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นส่วนตัว และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2524 ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในฐานะนายทะเบียนสมาคมจังหวัดราชบุรี มีประกาศจังหวัดราชบุรีขีดชื่อสมาคมศาสนาสัมพันธ์ออกจากทะเบียนสมาคมตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2524 อันเป็นเหตุให้สมาคมศาสนาสัมพันธ์ต้องเลิกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1292(7) ไม่ได้เป็นนิติบุคคลอีกต่อไป โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการของสมาคมศาสนาสัมพันธ์ในขณะนั้นจึงต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการของสมาคมศาสนาสัมพันธ์ไปด้วย ไม่มีอำนาจหน้าที่ หรือความสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกันอีก แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ได้รับความอับอาย ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามจากบุคคลอื่น โดยเฉพาะระดับผู้นำของประเทศที่ตอบรับเชิญเข้าร่วมประชุมทำให้เสียเกียรติภูมิของโจทก์ทั้งเจ็ด และอาจถูกสมาชิกของสมาคมศาสนาสัมพันธ์เรียกร้องค่าเสียหายได้นั้น ก็เป็นความรู้สึกและคาดคิดส่วนตัวของโจทก์ทั้งเจ็ดเอง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหายเนื่องจากการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยอันจะมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งเจ็ดต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share