คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของจำเลยที่ 2 มีข้อความกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น และให้โจทก์ทบทวนการกระทำของโจทก์และวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำผิดถูกอย่างไร แล้วรายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด มิฉะนั้นจะรายงานผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต่อไปไม่มีข้อความที่สั่งให้โจทก์ออกจากงาน ปลดโจทก์ออกจากงานหรือไล่โจทก์ออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ แม้ในคำสั่งจะมีข้อความตำหนิการกระทำของโจทก์จะถือว่าเมื่ออ่านประกอบข้อความที่ให้โจทก์วินิจฉัยตนเองแล้วเป็นการไล่โจทก์ออกจากงานโดยใช้ถ้อยคำสุภาพไม่ได้ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นคำสั่งเลิกจ้างโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างาประจำครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ครูโรงเรียนกรุงธนวิทยาภวัน ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 2,685 บาท วันที่ 26 ตุลาคม 2531 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ดื้อดึงและถือทิฐิ โจทก์เห็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 21,480 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน3,132.50 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึง 25 ตุลาคม 2531จำนวน 2,237.50 บาท เงินสะสมที่จำเลยหักไว้จำนวน 2,700 บาทและค่าชดเชยจำนวน 16,110 บาท
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานไปเอง โดยจำเลยมิได้เลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย และค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์ สำหรับค่าจ้างค้างจ่ายนั้น จำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ โดยฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2531 โจทก์ไม่ไปเบิกเงินเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับเงินจำนวนนี้ ส่วนเงินสะสมเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอรับคืนที่กระทรวงศึกษาธิการ เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้เก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ ค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึง 25 ตุลาคม 2531 จำเลยได้นำฝากเข้าบัญชีธนาคารให้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม2531 และเรื่องเงินสะสมโจทก์จัต้องไปยื่นขอรับต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จำเลยไม่มีความรับผิดต้องชำระแก่โจทก์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนดคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2531 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา โจทก์กับนางนารีรัตน์ สิงห์เสนี ซึ่งเป็นครูโรงเรียนกรุงธนวิทยาภวันมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน วันที่ 25 ตุลาคม 2531 เวลาประมาณ 15.30นาฬิกา จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนดังกล่าวได้เขียนคำสั่งลงในสมุดตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 136-137 ให้ครูคนอื่นนำไปให้โจทก์อ่านและเซ็นทราบ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีข้อความว่า ‘ข้าพเจ้าได้รับรายงานจากครูใหญ่ว่าท่านและนางนารีรัตน์ สิงหเสนี มีกรณีพิพาทกัน ครูใหญ่ได้เชิญท่านและครูนารีรัตน์ไปพบครูใหญ่ที่ห้องทำการเมื่อเย็นวานนี้เพื่อปรับความเข้าใจกับคู่กรณี แต่ท่านก็ไม่ยอมไปพบครูใหญ่ วันนี้ข้าพเจ้าจึงได้มาขอพบท่านกับคู่กรณี แต่ท่านก็ไม่ยอมมาพบข้าพเจ้าทั้งที่ข้าพเจ้าให้ครูไปเรียกท่านถึง 4 คน และให้ครูที่ข้าพเจ้าใช้ไปเรียกท่านอธิบายให้ท่านฟังว่าที่ท่านอ้างว่าท่านได้เอาเรื่องที่เกิดพิพาทไปแจ้งตำรวจแล้ว ซึ่งท่านถือว่าเรื่องเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาพบข้าพเจ้าอีก การที่ท่านบอกกับครูที่ข้าพเจ้าใช้ให้ไปเรียกท่านตามเหตุผลข้างบนนี้เป็นการไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชางานที่ทำอยู่เมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็จำเป็นจะต้องพูดจากันเพื่อทราบความผิดความถูก ใครผิดก็จะขอร้องให้ขอโทษ ใครถูกก็ยอมให้อภัยกันเสีย เพราะหลักศีลธรรมและจรรยาบรรณเช่นนี้ครูทุกคนจะต้องมีประจำตัว ถ้าครูผู้ใดไม่มีสิ่งนี้แล้วเวลาได้ยินใครเรียกครูจะฟังไม่สนิท ความปราถนาของข้าพเจ้าที่จะพบท่านกับคู่พิพาทก็เพื่อประสานรอยร้าวสร้างความรักสามัคครีให้มีต่อกันประดุจเดิมจะได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขเหมือนที่เคยอยู่ร่วมกันมา แต่ท่านเอาแต่ดื้อรั้นทิฐิไม่คำนึ่งว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก และไม่ยอมรับทราบคำสั่งที่เรียกท่านมาพบก็เป็นคำสั่งที่ถูกทำนองคลองธรรมของผู้บังคับบัญชาที่สามารถจะเรียกผู้ใต้บังบังคับบัญชามาพบได้ในเวลาที่มีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้นกับผู้นั้น จึงขอให้ท่านทบทวนการกระทำของท่านและวินิจฉัยตัวท่านเองว่าท่านผิดถูกอย่างไร แล้วรายงานให้ข้าพเจ้าทราบในวันที่26 ตุลาคม 2531 ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้รับรายงานของท่านตามกำหนดข้าพเจ้าจะรายงานผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต่อไป คือกระทรวงศึกษาธิการ’ และลงนามจำเลยที่ 2 ระบุตำแหน่งผู้จัดการปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า คำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 2เป็นคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมีข้อความกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น และในตอนท้ายระบุให้โจทก์ทบทวนการกระทำของโจทก์เองและวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำผิดถูกอย่างไรแล้วรายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบในวันที่ 26 ตุลาคม 2531 ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับรายงานของโจทก์ตามกำหนด จำเลยที่ 2 จะรายงานผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต่อไปคือ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีความหมายว่าให้โจทก์พิจารณาทบทวนการกระทำของโจทก์เองว่าที่กระทำไปนั้นผิดถูกอย่างไรแล้วรายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุสั่งให้โจทก์ออกจากงาน ปลดโจทก์ออกจากงาน หรือไล่โจทก์ออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใดแม้ในคำสั่งดังกล่าวจะมีข้อความว่าโจทก์เอาแต่ดื้อรั้นทิฐิ ไม่คำนึ่งว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ก็เป็นข้อความเพียงแต่ตำหนิการกระทำของโจทก์ที่ไม่ยอมไปพบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนตามที่สั่งให้ไปพบ และจะถือว่าเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวนี้ประกอบกับข้อความที่ให้โจทก์พิจารณาตนเองหรือวินิจฉัยตนเองแล้วเป็นการไล่โจทก์ออกจากงานโดยใช้ถ้อยคำสุภาพดังที่โจทก์อุทธรณ์นั้น ก็ไม่ได้มีความหมายให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นเช่นนั้นคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งเลิกจ้างโจทก์…’
พิพากษายืน.

Share