แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยยอมรับต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่กองกำลังพล กรมตำรวจว่าจำเลยเป็นผู้แก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งในบันทึกการขอ บรรจุ ข้าราชการตำรวจที่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยจะรอเสนอแต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งของสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่นเป็นตำแหน่งรองสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจนครบาล ชนะสงคราม ดังนี้ เป็นคำบอกเล่าที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์ จึงรับฟังได้.
จำเลยปลอมเอกสารบันทึกการขอ บรรจุ ข้าราชการตำรวจอันเป็นเอกสารราชการขณะเอกสารดังกล่าวถูกส่งไปตามสายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลถึงอธิบดีกรมตำรวจและยังคงค้างอยู่ที่กองกำลังพล กรมตำรวจ ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลังพล ที่จะเสนอเอกสารดังกล่าวไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจ จำเลยมิใช่เป็นผู้ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังพลโดยวิธีแนบเรื่องไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83,91, 264, 265 และ 268 ริบเอกสารปลอม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาท ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี4 เดือน และปรับ 4,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้ความว่าเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2523พลตำรวจตรีเถลิงศักดิ์ สังขะตะวรรธน์ ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือ ได้ทำบันทึกเสนอขอบรรจุจำเลยให้ได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิในตำแหน่ง รอง สวป.สน.ประชาชื่น เลขประจำตำแหน่งที่สน.1 – 279 ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.5 พลตำรวจโทเสน่ห์ สิทธิพันธ์ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจึงทำบันทึกข้อความลงวันที่ 24 มิถุนายน 2523ถึงอธิบดีกรมตำรวจตามที่กองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือเสนอดังปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.7 แต่ปรากฏว่าต้นฉบับบันทึกข้อความของพลตำรวจโทเสน่ห์ดังกล่าวถูกแก้ไขโดยวิธีการลบข้อความว่า “รอง สวป.สน.ประชาชื่น” และเลข”279″ ออกแล้วพิมพ์ข้อความว่า”รอง สวป.สน.ชนะสงคราม” และเลข “99” ลงไปแทนดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นผลให้กรมตำรวจมีคำสั่งที่ 1217/2523 ลงวันที่ 4กันยายน 2523 แต่งตั้งให้จำเลยไปดำรงตำแหน่ง รอง สวป.สน.ชนะสงครามปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ภายหลังจากคำสั่งกรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.3ออกแล้ว ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบพบว่า ตำแหน่งของจำเลยในคำสั่งของกรมตำรวจไม่ตรงตามที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเสนอจึงมีการตรวจสอบดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 จ.11 และพบว่ามีบันทึกข้อความของพลตำรวจโทเสน่ห์ถึงอธิบดีกรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.2ถูกแก้ไข โจทก์จึงฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกับพวกทำการปลอมเอกสารของทางราชการ นำเอกสารดังกล่าวไปใช้ และอ้างแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำลังพล จำเลยต่อสู้ว่าคำสั่งกรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.3เป็นคำสั่งที่ถูกต้อง จำเลยไม่ได้กระทำผิด
สำหรับปัญหาที่ว่า คำสั่งกรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นคำสั่งที่ถูกต้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยก็ยอมรับว่ามีบันทึกข้อความของพลตำรวจโทเสน่ห์ สิทธิพันธ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลถึงอธิบดีกรมตำรวจที่ขอบรรจุจำเลยให้ตรงตามคุณวุฒิถูกปลอมโดยลบข้อความเดิมที่ว่า “รอง สวป.สน.ประชาชื่น” และเลขตำแหน่งที่ “สน.1 – 279″ออกแล้วพิมพ์ข้อความใหม่ลงไปแทนว่า “รอง สวป.สน.ชนะสงคราม” เลขตำแหน่งที่ “สน.1 – 99” ดังนั้น ปัญหาวินิจฉัยจึงมีเพียงว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกปลอมและใช้เอกสารดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่
ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว ร้อยตำรวจตรีไพบูลย์เบิกความตอบโจทก์ว่า ราวกลางเดือนมิถุนายน 2523 ตำรวจที่ขอปรับคุณวุฒิกว่า 10 คนรวมทั้งจำเลยได้ไปติดตามเรื่องของแต่ละคนที่ร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ จำเลยได้หยิบเอาแฟ้มเรื่องของจำเลยที่วางบนโต๊ะไปดูทางด้านหลังห้องทำงานของร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ประมาณ 10-20 นาทีจึงนำมาคืน และตอบค้านทนายจำเลยว่า เมื่อจำเลยนำแฟ้มมาคืนนั้นร้อยตำรวจตรีไพบูลย์สังเกตว่ามีร่องรอยลบด้วยยาลบหมึกขาว ๆ แต่ก็มิได้สนใจโดยคิดว่าต้นสังกัดเป็นผู้แก้ไข คำเบิกความของร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นว่ารับฟังได้ เพราะร้อยตำรวจตรีไพบูลย์เป็นเพื่อนของจำเลยเข้ารับการอบรมเพื่อปรับคุณวุฒิรุ่นที่ 24 พร้อมกัน ทั้งร้อยตำรวจตรีไพบูลย์กับจำเลยก็ไม่มีสาเหตุกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะระแวงว่าร้อยตำรวจตรีไพบูลย์จะเบิกความปรักปรำจำเลย
นอกจากร้อยตำรวจตรีไพบูลย์แล้ว โจทก์ยังได้อ้างพันตำรวจตรีอาภรณ์ ไชยปะ ว่าที่พันตำรวจตรีบรรจง ตันศยานนท์พันตำรวจเอกสุเทพ ธรรมรักษ์ พันตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ และพลตำรวจตรีสนอง วัฒนวรางกูร มาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 3กันยายน 2523 หลังจากมีข่าวเรื่องคำสั่งแต่งตั้งจำเลยถูกแก้ไขแล้วจำเลยได้มาที่กองกำลังพล พันตำรวจตรีอาภรณ์ และว่าที่พันตำรวจตรีบรรจงจึงได้เชิญจำเลยไปพบ พันตำรวจเอกสุเทพพร้อมกับร้อยตำรวจตรีไพบูลย์ จำเลยก็ได้ยอมรับต่อพันตำรวจเอกสุเทพว่า จำเลยเป็นคนแก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งในเอกสารหมาย จ.2 รุ่งขึ้นวันที่ 4กันยายน 2523 เมื่อจำเลยมาพบพันตำรวจเอกวาสนา จำเลยก็ยอมรับต่อพันตำรวจเอกวาสนาต่อหน้าพลตำรวจตรีสนองว่าจำเลยเป็นผู้แก้ไขตำแหน่งและเลขประจำตำแหน่งในเอกสารหมาย จ.2 คำพยานโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องต้องกันและเป็นคำเบิกความของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่มีเหตุที่น่าสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งจำเลย แม้จะเป็นคำบอกเล่า แต่เป็นคำบอกเล่าที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์จึงรับฟังได้…
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ด้วยนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า เอกสารหมาย จ.2 เป็นบันทึกข้อความของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขอบรรจุแต่งตั้งข้าราชการตำรวจรวมทั้งจำเลยตามคุณวุฒิ ถึงอธิบดีกรมตำรวจ แต่ในขณะที่เอกสารดังกล่าวถูกส่งไปตามสายงานและค้างที่กองกำลังพล จำเลยและพวกได้ร่วมกันแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นดังนี้ จะว่าจำเลยเป็นผู้ใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังพลโดยวิธีแนบเรื่องไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจหาได้ไม่เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลังพลที่จะเป็นผู้เสนอเอกสารดังกล่าวไปตามลำดับจนถึงอธิบดีกรมตำรวจอยู่แล้ว…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา265 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์