คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

นาง ป. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3และนาง ป. เป็นบุตรคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง นาง ป.จึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337เมื่อนาง ป. คนสัญชาติไทยอยู่กินฉันสามีภรรยากับนาย ก.คนญวนอพยพโดยไม่จดทะเบียนสมรส โจทก์ทั้งสามจึงมีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามเกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีย่อมได้สัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) บุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยโดยเหตุที่บิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นั้น จะต้องปรากฏว่าคนต่างด้าวนั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อนาง ป.มารดาของโจทก์ทั้งสามไม่ใช่คนต่างด้าว และนาย ก. ก็มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสาม กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 อันจะเป็นผลให้โจทก์ทั้งสามถูกถอนสัญชาติไทยโจทก์ทั้งสามจึงยังคงมีสัญชาติไทย.
เมื่อ พ.ศ. 2522 มารดาโจทก์ทั้งสามได้ขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งสามออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพแต่เจ้าหน้าที่ไม่จัดการให้โดยโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคนต่างด้าวเช่นนี้ แม้จำเลยเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากิจการคนญวนอพยพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 ตลอดมาถึงวันฟ้องก็ตาม ตราบใดที่โจทก์ทั้งสามมีสัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพได้ให้จำเลยถอนชื่อออกแต่จำเลยไม่จัดการให้ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามถูกโต้แย้งสิทธิตลอดมา จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการคนญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี.
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243(1) ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่นั้น อยู่ในดุลพินิจว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทยโดยเกิดในราชอาณาจักรไทย ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเดือนพฤษภาคม2514 จำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานีได้อ้างว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นคนต่างด้าว และเพิ่มชื่อของโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ เมื่อโจทก์ที่ 3 เกิดมา จำเลยได้อ้างว่า โจทก์ที่ 3 เป็นคนต่างด้าวและเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 3 ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพดังกล่าว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยถอนชื่อโจทก์ทั้งสามออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ แต่จำเลยยืนยันว่า โจทก์ทั้งสามเป็นคนญวนอพยพ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยถอนชื่อโจทก์ทั้งสามออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเลขที่ 104/8 ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี
จำเลยให้การว่าโจทก์มีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อนายกู๋โง ซึ่งเป็นคนสัญชาติญวนเกิดนอกราชอาณาจักรและหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรการกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การได้สัญชาติและเสียสัญชาติของคนต่างด้าวย่อมเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย ในปี พ.ศ. 2514 จำเลยไม่เคยอ้างว่า โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติญวนและไม่เคยเพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ เนื่องจากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จำเลยยังไม่ได้มารับราชการในตำแหน่งดังกล่าว โจทก์ทั้งสามไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยทราบว่า ตนเป็นคนสัญชาติไทยและไม่เคยบอกให้จำเลยถอนชื่อตนออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ และการที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิมาตั้งแต่พ.ศ. 2514 แต่เพิ่งจะฟ้องคดีนี้ซึ่งล่วงเลยเวลากว่า 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยให้ถอนชื่อโจทก์ทั้งสามออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเลขที่ 104/8ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางปราณีหรือแอมแซ่ผ่าน เป็นบุตรนายยินและนางเกียว แซ่ผ่าน คนต่างด้าวซึ่งได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองซึ่งมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นางปราณีเกิดที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2490 ตามทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 และมีบัตรประจำตัวประชาชนตามภาพถ่ายหมาย จ.4 เมื่อพ.ศ. 2508 นางปราณีอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายกู๋หรือสมศักดิ์ แซ่โงคนญวนอพยพโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรเกิดด้วยกัน 3 คน คือโจทก์ที่ 1 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2509 โจทก์ที่ 2 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2512 โจทก์ที่ 3 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2516 ที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2514 สำนักงานกิจการคนญวนอพยพได้ใส่ชื่อนายกู๋ นางปราณี กับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเลขที่ 104/8 ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อโจทก์ที่ 3 เกิดมาเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าโจทก์ที่ 3 เป็นคนต่างด้าวและเพิ่มชื่อโจทก์ที่ 3 ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพดังกล่าว
จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า นางปราณีเป็นคนต่างด้าวเพราะมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว จึงไม่อาจได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนางปราณี และนายกู๋ คนญวนอพยพโดยบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสโจทก์ทั้งสามจึงไม่ได้สัญชาติไทยเช่นเดียวกับนางปราณีตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า นางปราณีมารดาโจทก์ทั้งสามเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3 และนางปราณีเป็นบุตรคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนางปราณีจึงไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 เมื่อนางปราณีคนสัญชาติไทยอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายกู๋คนญวนอพยพโดยไม่จดทะเบียนสมรส โจทก์ทั้งสาม จึงมีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามได้สัญชาติไทย เพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยโดยเหตุที่บิดาเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นั้น จะต้องปรากฏว่าคนต่างด้าวนั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อนางปราณีมารดาของโจทก์ทั้งสามไม่ใช่คนต่างด้าว และนายกู๋ก็มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสาม กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 อันจะเป็นผลให้โจทก์ทั้งสามถูกถอนสัญชาติไทย โจทก์ทั้งสามจึงยังคงมีสัญชาติไทย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวหรือฐานะตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานี เพราะไม่มีการโต้แย้งสิทธิใด ๆ ของโจทก์ทั้งสาม และคดีขาดอายุความ นั้น ได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. 2522 มารดาโจทก์ทั้งสามได้ขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งสามออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดการให้โดยโต้แย้งว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวเช่นนี้ เห็นว่าแม้จำเลยเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากิจการคนญวนอพยพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 ตลอดมาถึงวันฟ้องก็ตาม ตราบใดที่โจทก์ทั้งสามมีสัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพได้ให้จำเลยถอนชื่อออก แต่จำเลยไม่จัดการให้ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามถูกโต้แย้งสิทธิตลอดมาจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการคนญวนอพยพ จังหวัดอุบลราชธานี และคดีไม่ขาดอายุความฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยประเด็นเดียวว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยถึงประเด็นเรื่องสัญชาติและอายุความ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 ให้อำนาจพิพากษายืนยก กลับ และแก้ในปัญหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 บัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วยคือ (1) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษา และคำสั่งและศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควรก็ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่…” ตามมาตรา 243(1)นี้ ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วส่งสำนวนคืนไปเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่นั้น อยู่ในดุลพินิจว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน ฎีกาจำเลยข้อนี้ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share