คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปไถพูนดินและปลูกต้นมะพร้าวในบริเวณที่น้ำท่วมถึงอันเป็นหนองน้ำสาธารณะซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และยังคงอยู่ในที่ไม่ยอมรื้อถอนต้นมะพร้าวเมื่อนายอำเภอแจ้งให้ออกเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสองประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11 แต่จะลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362,365 หาได้ไม่เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่ลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งการกระทำของจำเลยเป็นเพียงเข้าไปถือเอาประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์ ไม่ได้ประสงค์จะเข้าไปทำให้ที่นั้นเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ จึงลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 ไม่ได้อีกเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 360, 362, 365 และให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 360, 362,365 ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 365 ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเข้าไปไถพูนดินและปลูกต้นมะพร้าวประมาณ 80 ต้น ในที่เกิดเหตุ เนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ซึ่งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาบุกรุกที่เกิดเหตุหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานโจทก์และจำเลยว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน2528 คณะทำงานหรือคณะกรรมการที่ทางอำเภอถลางตั้งขึ้นได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แต่จำเลยทั้งสองก็ยังไม่ยอมออกไป ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2528 นายประวิทย์สีห์โสภา นายอำเภอถลางก็ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่เกิดเหตุอีกตามเอกสารหมาย จ.4 แต่จำเลยทั้งสองก็ยังคงไม่ยอมออกไปอีกเช่นกัน การที่จำเลยทั้งสองยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ยอมรื้อถอนต้นมะพร้าวที่จำเลยทั้งสองไถพูนดินขึ้นนำมาปลูกไว้เช่นนี้ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11 ส่วนความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 นั้น เมื่อได้ความว่าที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หาใช่ที่ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของไม่ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ไม่ได้ เพราะความผิดในฐานดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์คงนำสืบได้แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปไถพูนดินในที่เกิดเหตุแล้วนำต้นมะพร้าวไปปลูกไว้ 80 ต้น เท่านั้นโดยนำสืบไม่ได้ว่าที่เกิดเหตุอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินได้รับความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์อย่างไรและการที่จำเลยทั้งสองนำต้นมะพร้าวไปปลูกดังกล่าว ก็เป็นเพียงการเข้าไปถือประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์เท่านั้น หาได้ประสงค์จะเข้าไปทำให้ที่สาธารณประโยชน์ตามฟ้องต้องเสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ไม่ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ไม่ได้อีกเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นเป็นบางส่วน แต่อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นคนดีสักครั้งหนึ่งโดยรอการลงโทษจำคุกให้ แต่สมควรลงโทษปรับจำเลยทั้งสองด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share