คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1345/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์และทำสัญญากู้ตามฟ้อง มูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเงินที่ค้างชำระในการซื้อขายรถยนต์ก็เป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้นั้นได้ ไม่เป็นการนอกฟ้อง
ดอกเบี้ยก่อนทำสัญญากู้ที่ตกลงกันให้คิดจากค่างวดที่ค้างชำระตามสัญญาซื้อขายนั้น มีลักษณะเป็นค่าเสียหาย ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากการกู้ยืม จึงไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญ้ติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ
การนำสืบการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653วรรคสองนั้นหมายถึงต้นเงินไม่หมายรวมถึงดอกเบี้ย
การที่ศาลจะให้ฝ่ายใดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมนั้นเป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด และแม้คู่ความอีกฝ่ายจะมิได้ขอ ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2526 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ 53,130 บาท อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ชำระดอกเบี้ยทุกเดือนกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2527 นับแต่กู้ยืมจำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันกู้ยืมจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินตามฟ้อง เมื่อวันที่ 27ธันวาคม 2523 โจทก์ได้นำรถยนต์กระบะ 1 คันมาขายให้แก่จำเลยในราคา 70,000 บาทชำระในวันทำสัญญา 10,000 บาท ที่เหลือชำระเดือนละ 3,500 บาททุกวันที่ 27 ของเดือนจำเลยได้ผ่อนชำระเรื่อยมาหากงวดไหนไม่ได้ชำระโจทก์จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ของต้นเงินที่ค้างชำระของแต่ละงวดรวมกับดอกเบี้ยแล้วจำเลยค้างชำระอยู่53,130 บาท โจทก์จำเลยจึงได้ทำสัญญากู้ท้ายฟ้อง จากนั้นจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลยจนถึงวันที่ 18พฤษภาคม 2527 ได้มีการคิดดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้าง จำเลยได้ชำระ 3,400 บาท ค้างชำระอีก 12,530 บาท จึงได้มีการทำสัญญากู้อีก 1 ฉบับตามที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งดำที่ 237/2527ของศาลชั้นต้น สัญญากู้ยืมที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้จึงไม่มีมูลหนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 53,130 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2526 จนถึงวันชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่เกิน 5,810 บาท และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวมสองพันบาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาเป็นยุติว่า จำเลยค้างชำระค่าซื้อรถยนต์จากโจทก์เป็นเงิน28,500 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระแต่ละงวดรวมกับเงินต้นเป็นเงิน 53,130 บาท โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ไว้ตามฉบับที่ฟ้อง มีปัญหาตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยตรงตามฟ้อง ต้องพิพากษายกฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ และทำสัญญากู้เงินตามฟ้อง มูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเงินที่ค้างชำระในการซื้อขายรถยนต์ก็เป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย และสัญญากู้ก็มีผลบังคับได้ ไม่เป็นการนอกฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้นั้นได้ ที่จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยเงินค่ารถยนต์ที่ค้างชำระร้อยละ 5 ของแต่ละงวดให้โจทก์นั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหาย ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน จึงไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การชำระดอกเบี้ย 3,400 บาทจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดงหรือแทงเพิกถอนลงในเอกสาร ต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการนำสืบการใช้เงินตามมาตราดังกล่าวนั้นหมายถึงต้นเงินเท่านั้น ไม่หมายความถึงดอกเบี้ย แต่การนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยดังกล่าว จำเลยมีแต่ตัวเองเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน จึงฟังไม่ได้ว่าชำระดอกเบี้ยแล้ว
จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับโจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ทั้งมิได้มีคำขอมาในอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดศาลที่พิพากษาย่อมใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรได้……….’
พิพากษายืนให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาทแทนโจทก์.

Share