คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1286/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยินยอมให้ใช้ชื่อสกุลของตนเป็นชื่อห้างผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เพราะคำว่า’ชื่อ’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 และมาตรา 1082หมายถึงชื่อสกุลด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดแต่ยอมให้นำชื่อสกุลของตนมาใช้เป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินให้โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้ หากโอนให้ไม่ได้ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงิน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามฟ้องให้โจทก์หากไม่โอนให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากโอนไม่ได้ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงินจำนวน 112,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 ที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…..ที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 ไม่ได้เอาชื่อตัวมาใช้ระคนเป็นชื่อจำเลยที่ 1 หากแต่เอาชื่อสกุลมาใช้จึงไม่ต้องรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 4 ที่ 5จึงไม่ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง’ และมาตรา 1082 บัญญัติว่า ‘ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดั่งว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น’ คำว่า ‘ชื่อ’ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 มีได้ทั้งชื่อตัวชื่อเล่น และชื่อสกุล ด้วย และวิญญูชนทั่วไปก็เข้าใจว่าชื่อสกุลมีความสำคัญยิ่งกว่าชื่อตัว ดังนั้น คำว่า ‘ชื่อ’ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1081 และมาตรา 1082 ย่อมย่อมหมายถึงชื่อสกุลด้วยจำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ตามฟ้อง……………………’
พิพากษายืน.

Share