คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นการฟ้องโดยอ้างมูลละเมิดเป็นหลักแห่งข้อหาแต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งโดยไม่สุจริต ทั้งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่า จำเลยมีคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร คำสั่งของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายใดถือไม่ได้ว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิด และโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า1 แปลง ต่อมานายสุรศักดิ์ บุณยะประภัศร นางประดับ คชรัตน์ และนายศิริพันธ์ จาตุรงคกุล ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินทับที่ของโจทก์ต่อจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานที่ดิน โจทก์คัดค้าน จำเลยมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่บุคคลดังกล่าว หากโจทก์ไม่พอใจให้ยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 60 วัน คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และห้ามมิให้จำเลยออกโฉนดให้แก่บุคคลที่กล่าวในฟ้อง ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยมีคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริต โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้นั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาคำฟ้องโดยตลอดแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอ้างมูลละเมิดเป็นหลักแห่งข้อหา แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งโดยไม่สุจริตทั้งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าจำเลยมีคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร คำสั่งของจำเลยฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายใดจึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share