คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1080/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา 285,286แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ร้องที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่มิได้อยู่ในบทบัญญัติข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าวจึงต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี สำหรับเงินค่าหุ้นนั้น แม้จะเป็นเงินทุนของผู้ร้องตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติ สหกรณ์ พ.ศ. 2511 และข้อบังคับของผู้ร้องก็ตามแต่จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ ส่วนข้อบังคับของผู้ร้องเกี่ยวกับการหักหรือคืนเงินค่าหุ้น ตลอดจนกำหนดว่าสมาชิกของผู้ร้องจะขาย โอน ถอนหุ้นดังกล่าวระหว่างเป็นสมาชิกไม่ได้นั้น ก็เป็นเรื่องภายในระหว่างสมาชิกผู้ร้องเอง มิใช่กฎหมายหามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีตามคำสั่งอายัดเดิมไป.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน9,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระโจทก์จึงขอให้บังคับคดีโดยขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นสมาชิกผู้ร้องของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นให้อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 อันมีต่อผู้ร้องซึ่งจะต้องชำระเงินค่าหุ้นจำนวน10,980 บาท หรือส่งมอบเงินค่าหุ้นดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แต่ให้ชำระหรือส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วัน
ผู้ร้องคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นสมาชิกและเป็นหนี้ผู้ร้องอยู่มากตามข้อบังคับของผู้ร้องสมาชิกจะลาออกและถอนหุ้นได้ต่อเมื่อไม่มีข้อผูกพันอยู่ต่อผู้ร้องในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกัน ผู้ร้องจึงไม่สามารถส่งเงินตามหมายอายัดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามข้อบังคับของผู้ร้อง สมาชิกจะขายโอน หรือถอนหุ้นระหว่างเป็นสมาชิกไม่ได้ และการลาออกจากสมาชิกนั้นจะต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่ต่อผู้ร้องให้เสร็จสิ้นก่อน เมื่อปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกยังเป็นหนี้ผู้ร้องมากกว่าจำนวนหุ้นที่ส่งไปแล้ว จึงไม่อาจจะอายัดเงินค่าหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ให้เพิกถอนคำสั่ง อายัดและยกคำขอของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีตามคำสั่งอายัดเดิมต่อไป
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องนำสืบโดยโจทก์ไม่สืบพยานว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของผู้ร้อง คิดถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ 1,198 หุ้น จำนวนเงิน 11,980 บาท และเป็นหนี้เงินกู้ผู้ร้องอยู่ 12,500 บาทปรากฎตามทะเบียนหุ้นและบัญชีเงินกู้ เอกสารหมาย ร.2 ตามข้อบังคับของผู้ร้องเอกสารหมาย ร.3 ข้อ 21 วรรคสุดท้ายระบุว่า สมาชิกจะขายหรือโอนหรือถอนหุ้นในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวให้ผู้ร้องเดือนละ 500 บาท ผู้ร้องจะให้สมาชิกลาออกได้ต่อเมื่อไม่เป็นหนี้ผู้ร้อง ทั้งไม่เป็นผู้ค้ำประกันสมาชิกรายอื่น และเมื่อให้ลาออกแล้วผู้ร้องจะคืนเงินค่าหุ้นให้สมาชิกผู้นั้น
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีหรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามมาตรา 285 และ 286 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสำหรับหุ้นของผู้ร้องที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่นั้น หาได้มีบัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นไม่จึงต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ที่ผู้ร้องฎีกาว่า เงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากผู้ร้องได้ตกเป็นของผู้ร้องแล้ว หาได้เป็นเงินของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องจึงทรงสิทธิที่จะไม่มอบเงินดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น เห็นว่า แม้เงินค่าหุ้นจะเป็นเงินทุนของผู้ร้องตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511และข้อบังคับของผู้ร้องก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ ส่วนข้อบังคับของผู้ร้องที่ว่า สมาชิกของผู้ร้องจะขายหรือโอนหรือถอนหุ้นในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกไม่ได้ รวมทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการหักหรือการคืนเงินค่าหุ้นดังกล่าวนั้น หามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่เพราะข้อบังคับดังกล่าวมิใช่กฎหมายเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจัดวางระเบียบบริหารงานภายในระหว่างสมาชิกของผู้ร้องเองที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีตามคำสั่งอายัดเดิมจึงชอบแล้วฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาเกินกำหนด จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share