แหล่งที่มา : สำนักงานสงเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ใน 5 วัน หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงใน 7 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ เมื่อโจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ในกำหนดตามคำสั่งศาล จึงต้องถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2).(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2530 พร้อมกับยื่นคำร้องขอผัดการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องชำระให้จำเลยตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้วางเงินดังกล่าวในกำหนด 7 วัน และโจทก์นำเงินมาวางศาลในวันที่ 14 เดือนเดียวกันนั้น ศาลชั้นต้นจึงสั่งในวันนั้นเองว่ารับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่งใน 5 วัน หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงใน 7 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ในวันที่ 27 เดือนเดียวกันเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ในวันเดียวกันโจทก์ยื่นคำร้องขอวางเงินค่าส่งหมายและนำเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2), 246 ให้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบของศาลอุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีจะเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น โจทก์จะต้องเพิกเฉยไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน แต่โจทก์ได้วางเงินเป็นค่านำส่งหมายภายใน 15 วันแล้ว จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ระยะเวลา 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1) นั้น ได้ถูกแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527 มาตรา 7 ให้ลดเหลือ 7 วัน เท่านั้น ทั้งศาลอุทธรณ์ก็มิได้จำหน่ายคดีของโจทก์โดยอาศัยมาตรา 174(1) แต่ประการใด แต่ศาลอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดีโดยอาศัย มาตรา 174(2)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยทั้งนี้เพราะโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 5 วัน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน