คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยได้จ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์รับไปแล้วบางส่วน ซึ่งเป็นการจ่ายตามข้อบังคับของจำเลยที่มีอยู่ และจำเลยทราบถึงข้อบังคับดังกล่าวดีแล้ว เพียงแต่จำเลยไม่นำค่าครองชีพมารวมคำนวณบำเหน็จให้โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยจ่ายบำเหน็จเฉพาะส่วนที่ขาดโดยตามฟ้องได้ระบุจำนวนค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับในแต่ละเดือน และจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายขาดไป เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับในส่วนนี้พอที่จำเลยจะเข้าใจได้แล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไม่เคลือบคลุม ในสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณบำเหน็จ เมื่อจำเลยไม่นำมารวมคำนวณจำเลยจึงจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ขาดไปเท่ากับค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับแต่ละเดือนคูณด้วยจำนวนปีที่โจทก์ทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่มีในสำนวน ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า ตามข้อบังคับของจำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จว่าอย่างไร และโจทก์จะได้รับบำเหน็จเพียงใด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,610 บาท 6,570 บาท8,160 บาท 5,640 บาท และ 2,560 บาท ตามลำดับ กับโจทก์ที่ 2ที่ 4 และที่ 5 ได้รับค่าครองชีพอีกเดือนละ 300 บาท 300 บาท และ400 บาท ตามลำดับ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2531 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และจำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ครบ เนื่องจากไม่นำค่าครองชีพดังกล่าวมารวมคำนวณด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน 45,660 บาท 41,220 บาท48,960 บาท 35,640 บาท และ 17,760 บาท ตามลำดับ กับบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 จำนวน 3,600 บาท 3,900 บาท และ2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งห้าสำนวนให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์หลายประการและว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เรื่องบำเหน็จเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันเวลาทำงาน อัตราค่าจ้างของโจทก์ตามฟ้อง และระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินต่าง ๆ ท้ายคำให้การมีผลใช้บังคับศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าจำนวน 45,660 บาท41,220 บาท 48,960 บาท 35,640 บาท และ 17,760 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดแก่โจทก์ที่ 2ที่ 4 ที่ 5 จำนวน 3,600 บาท 3,900 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในเรื่องบำเหน็จส่วนที่ขาดเคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับอะไรจากจำเลย เหตุใดต้องนำค่าครองชีพมารวมคำนวณบำเหน็จ และหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จเป็นอย่างไร ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้พิเคราะห์แล้ว โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 บรรยายฟ้องว่าจำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์ไม่ครบ เพราะไม่นำค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้เดือนละ 300 บาท 300 บาท และ 400 บาทตามลำดับมารวมเป็นฐานคำนวณบำเหน็จด้วย ขอให้จำเลยจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดจำนวน3,600 บาท 3,900 บาท และ 2,000 บาทตามลำดับ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้จ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์รับไปแล้วบางส่วน ซึ่งเป็นการจ่ายตามข้อบังคับของจำเลยที่มีอยู่ แสดงว่าจำเลยจะต้องทราบข้อบังคับดังกล่าวดีแล้ว เพียงแต่จำเลยไม่นำค่าครองชีพมารวมคำนวณบำเหน็จให้โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เท่านั้น โจทก์ที่ 2 ที่ 4และที่ 5 จึงฟ้องให้จำเลยจ่ายบำเหน็จเฉพาะส่วนที่ขาด โดยตามฟ้องได้ระบุจำนวนค่าครองชีพที่โจทก์แต่ละคนได้รับในแต่ละเดือน และจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายขาดไปดังกล่าว เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับในส่วนนี้ พอที่จำเลยจะเข้าใจได้แล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ในคำฟ้องและคำให้การไม่ปรากฏวิธีการคำนวณบำเหน็จ ในชั้นพิจารณาโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5ไม่นำสืบให้เห็นวิธีคำนวณดังกล่าว และเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานในเรื่องนี้ โจทก์ทั้งสามดังกล่าวก็ไม่คัดค้าน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จจึงไม่มีในสำนวน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถึงการคำนวณบำเหน็จโดยเอาค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับแต่ละเดือนคูณด้วยจำนวนปีที่โจทก์ทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าในสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จดังจำเลยอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณบำเหน็จ เมื่อจำเลยไม่นำมารวมคำนวณ จำเลยจึงจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ขาดไปเท่ากับค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับแต่ละเดือนคูณด้วยจำนวนที่โจทก์แต่ละคนทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่มีในสำนวน ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 กรณีจึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า ตามข้อบังคับของจำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จว่าอย่างไร ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำมารวมคำนวณบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5หรือไม่ และโจทก์แต่ละคนดังกล่าวจะได้รับบำเหน็จเพียงใด”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกเลิกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางสำหรับคำขอของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในส่วนที่เกี่ยวกับบำเหน็จโดยให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานและวินิจฉัยหลักเกณฑ์กับวิธีการคำนวณบำเหน็จของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามนัยดังกล่าว แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share