คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองหลอกลวงว่ามีงานทำที่องค์การโทรศัพท์ประเทศมาเลเซีย ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดหลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่พฤติการณ์การหลอกลวงของจำเลยไม่ได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ตัวแทนของจำเลยได้ติดต่อกับโจทก์และพวกอ้างว่ามีงานที่หน่วยงานดังกล่าวว่างอยู่ 10 ตำแหน่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตามมาตรา 341 ดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ให้รับผลตามคำพิพากษาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 มาตรา 7, 20, 21 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบกับมาตรา 83จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายบุญหลงหลานวงศ์ โจทก์ที่ 1 นายปุ่น ผือสูงเนิน โจทก์ที่ 5 และนายเดช แสงภักดิ์ โจทก์ที่ 6 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าโจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกรวมทั้งหมด 10 คน ได้เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมาพบจำเลยที่ 1 เพราะทราบจากนางเฉลยซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ว่าจำเลยที่ 1 สามารถจัดหางานทำที่ประเทศมาเลเซียได้ เมื่อพบกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็บอกยืนยันแก่โจทก์กับพวกว่า มีงานองค์การโทรศัพท์ที่ประเทศมาเลเซียว่างอยู่ 10 ตำแหน่ง ค่าจ้างวันละ 230 บาท อยู่กินกับองค์การโทรศัพท์ หากจะไปทำงานก็ให้วางเงินคนละ 16,000 บาท จะได้เดินทางไปทำงานภายใน 7 วัน โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกดังกล่าวหลงเชื่อจึงมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไปคนละ 16,000 บาท และมอบหนังสือเดินทางให้ไปด้วย ต่อมาวันที่29 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้พาโจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกเดินทางไปที่จังหวัดนราธิวาสพักอยู่ที่นั่น1 คืน รุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ได้จัดการให้โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกผ่านด่านเข้าเขตประเทศมาเลเซีย โดยนายยงยุทธซึ่งอ้างว่าเป็นลูกน้องของจำเลยทั้งสองพาเข้าไป วันที่ 31 กรกฎาคม 2526 ค้างคืนที่เมืองซาคาบารู รุ่งขึ้นวันที่ 1 สิงหาคม 2526 นายยงยุทธพาโจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกไปที่หน่วยงานก่อสร้างแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในหุบเขานายยงยุทธบอกว่าเป็นที่ที่จะให้โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกทำงาน แล้วนายยงยุทธก็หลบหนีไป คนในสถานที่ดังกล่าวแจ้งว่าไม่ได้รับคนงานและที่นั่นไม่ใช่งานองค์การโทรศัพท์ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงรู้ว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง โจทก์บางคนเดินทางกลับประเทศไทยทันที บางคนก็หางานอื่นทำจนมีเงินพอค่าเดินทางจึงได้กลับ และได้ติดต่อกับจำเลยทั้งสองหลายครั้ง จำเลยทั้งสองบอกว่าจะส่งไปทำงานใหม่ แต่ก็ผัดวันเรื่อยมา และไม่ยอมคืนเงินให้ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน โจทก์เป็นคนต่างจังหวัดเดินทางมาติดต่อกับจำเลยทั้งสองโดยนางเฉลยแนะนำ ถ้าหากจำเลยทั้งสองไม่ได้รับเงินของโจทก์ทั้งเจ็ดไปโดยหลอกลวงว่า จะให้โจทก์ทั้งเจ็ดมีงานทำในประเทศมาเลเซียดังที่เบิกความ ก็ไม่มีเหตุที่พยานโจทก์ทั้งสามจะสร้างเหตุการณ์ขึ้นเพื่อปรักปรำใส่ร้ายจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษจำเลยที่ 1 ก็รับว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้มาติดต่อกับจำเลยที่ 1 จริงแต่บ่ายเบี่ยงไปว่า มาติดต่อเพื่อให้จำเลยที่ 1 ติดตามทวงถามเงินคืนจากนายยงยุทธซึ่งไม่มีเหตุผล รูปคดีฟังได้ว่า เนื่องจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งเจ็ดจึงได้ยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่พฤติการณ์การหลอกลวงของจำเลยทั้งสองมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป เป็นแต่เพียงว่านางเฉลยซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้ติดต่อกับโจทก์ทั้งเจ็ดและพวกอีก 3 คนรวมเป็น 10 คน อ้างว่ามีงานที่องค์การโทรศัพท์ในประเทศมาเลเซียว่างอยู่เพียง 10 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยืนยันกับโจทก์ทั้งเจ็ดและพวกดังกล่าวเช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ทั้งเจ็ดรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2526แต่ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำร่วมกันดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ให้รับผลตามคำพิพากษาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย

Share