แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ราคา 334,614 บาท ต่อมารถคันดังกล่าวสูญหายโจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทผู้รับประกันภัย 230,000 บาท เหลือราคารถยนต์ที่ยังไม่ได้ชำระอีก 104,614บาท แม้สัญญาเช่าซื้อระบุไว้ว่าถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อจนครบ ก็เป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อจำเลยได้ใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อเพียงเดือนเศษ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์อีก 75,614 บาท จึงนับว่าเป็นค่าเสียหายที่สมประโยชน์แก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เป็นเงิน 334,614 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถคืน บริษัทผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เนื่องจากรถสูญหายไปเป็นเงิน230,000 บาท เมื่อหักค่าเช่าซื้อแล้วยังขาดอยู่ 104,614 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องชำระตามสัญญาและจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน104,614 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินล่วงหน้า(เงินดาวน์) ในการซื้อรถยนต์ 35,000 บาท และเมื่อรถยนต์สูญหายบริษัทผู้รับประกันภัยได้ชำระค่ารถยนต์ให้แก่โจทก์เป็นจำนวน 230,000 บาทแล้ว หากโจทก์ยังได้รับเงินไม่คุ้มค่าเสียหายก็ควรแจ้งให้จำเลยทราบก่อน เมื่อโจทก์ไม่แจ้ง ถือว่าโจทก์ได้รับชำระค่าเสียหายเหมาะสมแก่ราคาแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,967 บาทพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน75,614 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ทางพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์โดยฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบแก้ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2526จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์มิตซูบิชิหมายเลขทะเบียน 1 จ-2470กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ ราคาค่าเช่าซื้อ 334,614 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน เดือนละ 7,967 บาท ภายในวันที่ 20ของทุกเดือน มีกำหนด 42 เดือน งวดแรกจะชำระภายในวันที่ 20ตุลาคม 2526 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นับแต่เช่าซื้อรถยนต์ไปแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โดยอ้างว่ารถคันดังกล่าวสูญหายไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2526 บริษัทสหวัฒนาประกันภัยจำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกันภัยได้ชดใช้ราคารถให้แก่โจทก์เป็นเงิน 230,000 บาท แล้ว ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 มีข้อตกลงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินล่วงหน้า (เงินดาวน์) ให้แก่บริษัทผู้ขายรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปแล้วเป็นเงิน 29,000 บาท และสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัด ผิดสัญญาถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
ปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อค้างชำระและค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใดโจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องใช้เงินเป็นจำนวน 104,614บาท เต็มตามคำขอท้ายฟ้อง เพราะตั้งแต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระเงินค่าเช่าซื้อเลย เมื่อนำเงินจำนวนที่โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทผู้รับประกันภัยมาหักออกจากค่าเช่าซื้อทั้งหมดแล้วโจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าเช่าซื้ออีก 104,614 บาท การที่ศาลอุทธรณ์นำเงินจำนวน 29,000 บาทมาหักออกจากเงินจำนวนนี้เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงนอกสำนวนขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถึงแม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุไว้ว่าถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ก็เป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 383 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 16 กันยายน2526 ราคาค่าเช่าซื้อ 334,614 บาท รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2526 โจทก์ได้รับชดใช้จากบริษัทผู้รับประกันภัยเป็นจำนวนเงิน 230,000 บาท จึงคงเหลือราคารถยนต์ที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระอีกจำนวน 104,614 บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อเพียงเดือนเศษดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินให้โจทก์อีก 75,614 บาท นับว่าเป็นจำนวนค่าเสียหายที่สมประโยชน์แก่โจทก์มากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้สูงขึ้นอีก…’
พิพากษายืน.