แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยไม่พอใจการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ให้เสียภาษี ก็ชอบที่จะยื่นคำโต้แย้งคัดค้านการประเมิน หรือขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ตามมาตรา 25 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และหากจำเลยยังไม่พอใจการชี้ขาดการประเมิน ก็อาจนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระเสียก่อนตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งต่อศาลได้ว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นการไม่ชอบ ในการโต้แย้งนั้นไม่ว่าผู้รับประเมินจะอยู่ในฐานะโจทก์หรือจำเลยผู้รับประเมินก็หมดสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีจำนวน 2,949,783.67บาทให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ และว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีและเงินเพิ่มจากจำเลยเกินไป 693,971.49 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกเกิน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและเงินเพิ่มจำนวน 2,866,186.59 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2528 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…เมื่อจำเลยไม่พอใจการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำโต้แย้งคัดค้านการประเมินหรือขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ตามมาตรา 25แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และหากจำเลยยังไม่พอใจการชี้ขาดการประเมิน จำเลยก็อาจนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องก็ได้แต่ต้องทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระเสียก่อนตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แต่ประการใดเลยเช่นนี้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งต่อศาลได้ว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตามฟ้องเป็นการไม่ชอบ ที่จำเลยฎีกาว่า บทบัญญัติในมาตรา 31 เป็นเรื่องการใช้สิทธิในการฟ้องคดีแต่เพียงอย่างเดียว มิได้หมายความรวมถึงการต่อสู้คดีในฐานะจำเลยด้วย ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิในการต่อสู้คดีได้เสมอว่าการประเมินภาษีโรงเรือนตามฟ้องไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ผู้รับประเมินมีสิทธิแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องเพียงวิธีเดียวนั่นคือการนำคดีไปสู่ศาล เมื่อไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ผู้รับประเมินก็หมดสิทธิที่จะโต้แย้งการประเมินไม่ว่าด้วยวิธีใด และไม่ว่าผู้รับประเมินจะอยู่ในฐานะโจทก์หรือจำเลยผู้รับประเมินก็หมดสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน…’
พิพากษายืน.