คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ฟืนเป็นไม้ที่ไม่เหมาะสมจะนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเป็นเชื้อเพลิง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 4 ก็ได้ให้คำนิยามของคำว่าไม้กับคำว่าของป่าไว้แยกต่างหากจากกัน และไม้ฟืนถูกกำหนดให้เป็นของป่าอย่างหนึ่ง ไม้ฟืนจึงไม่ใช่ไม้ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อจำเลยนำไม้ฟืนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงไม่มีความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม้ฟืนของกลางที่จำเลยรับจ้างบรรทุกรถยนต์มานั้นถูกเก็บกองอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดฐานเก็บหาไม้ฟืนซึ่งเป็นของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยหลบหนีไปเพราะพบเห็นเจ้าหน้าที่ แสดงว่าจำเลยทราบดีว่าไม้ฟืนของกลางอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยรับจ้างบรรทุกไม้ฟืนอันเป็นของป่าซึ่งมีผู้กระทำผิดนำมา กองไว้เพื่อจะนำออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ71 ทวิ ลงโทษบทหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ แล้วทำไม้หวงห้ามประเภท ก. เก็บหาไม้ฟืนซึ่งของป่าหวงห้าม และทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต กับมีไม้หวงห้ามประเภท ก. ซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในความครอบครองและมีไม้ฟืนอันเป็นของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองเกินปริมาตรที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ที่แก้ไขแล้วพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11, 27, 29, 29 ทวิ,69, 71 ทวิ, 73, 74, 74 จัตวา ที่แก้ไขแล้ว พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง กำหนดปริมาณของป่าหวงห้ามที่ให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้สอยในครัวเรือนแห่งตนได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2526ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่แก้ไขแล้ว ริบไม้และของป่าของกลาง กับจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31วางโทษจำคุก 2 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ วางโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาทเรียงกระทงลงโทษรวมเป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน ปรับ 5,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ข้อหาอื่นให้ยก จ่ายสินบนนำจับกึ่งค่าปรับ ไม้หรือของป่าให้ริบ
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 คงจำคุกจำเลย 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกไม้ของกลางเต็มคันรถมาติดหล่มอยู่ในบริเวณป่าแม่สลิดและป่าโป่งแดงอันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเจ้าหน้าที่นำไม้ของกลางบนรถยนต์ดังกล่าวมาตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าไม้ทั้งหมดมีปริมาตรรวม 27.78 ลูกบาศก์เมตร เป็นไม้ฟืน 24.08 ลูกบาศก์เมตรส่วนที่เหลืออีก 3.70 ลูกบาศก์เมตร ที่โจทก์อ้างว่าเป็นไม้รังและไม้แดง อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. นั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ต่อไปอีกว่า ไม้ดังกล่าวทั้ง 3.70ลูกบาศก์เมตร ก็เป็นไม้ฟืนด้วย สำหรับความผิดฐานมีของป่าหวงห้าม(ฟืน) เกินปริมาณกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้นไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีคงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะมีความผิดฐานทำไม้ และเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 ที่แก้ไขแล้วหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าไม้ทั้งหมดเป็นไม้ฟืนก็ถือว่าเป็นไม้ เมื่อจำเลยนำไม้ดังกล่าวออกจากป่า จึงถือว่าเป็นการทำไม้ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่าไม้ฟืนเป็นไม้ที่ไม่เหมาะสมจะนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเป็นเชื่อเพลิง ทั้งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 4 ก็ได้ให้คำนิยามของคำว่าไม้กับคำว่าของป่าไว้แยกต่างหากจากกัน สำหรับไม้ฟืนนั้นถูกกำหนดให้เป็นของป่าอย่างหนึ่ง ดังนั้นไม้ฟืนจึงไม่ใช่ไม้ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เมื่อจำเลยนำไม้ฟืนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงไม่มีความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า โจทก์มีพยานนำสืบว่า เห็นจำเลยขับรถยนต์บรรทุกไม้ของกลางติดหล่มอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และจำเลยยอมรับว่ารับจ้างนายยมบรรทุกไม้ที่มีอยู่ในป่านั้นถือว่าจำเลยเป็นตัวการที่ร่วมเก็บหาไม้ของกลางซึ่งเป็นของป่าเพราะการเป็นตัวการนั้น จำเลยไม่ต้องลงมือเก็บหาไม้เอง เพียงแต่รับแบ่งหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกไม้ของกลาง ก็ถือว่าเป็นตัวการร่วมเก็บหาของป่าแล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกในการกระทำผิดเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงไม่มีข้อหาหรือประเด็นว่า จำเลยกระทำผิดร่วมกับพวกหรือไม่ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่โดยเหตุที่คดีได้ความจากคำเบิกความของพันโทฟูเกียรติ เงินช้าง พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยว่า ก่อนจับกุมนายอำเภอบ้านตากได้รายงานทางวิทยุต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตากว่า มีผู้ลักลอบตัดไม้ในป่าที่เกิดเหตุ มีกองไม้ใหญ่จำนวน 4 กอง ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุม เพราะจะมีการขนย้ายออก ทั้งจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าเมื่อขับรถยนต์ไปถึงกองไม้ นายยมก็ว่าจ้างคนงานขนไม้ขึ้นบรรทุกรถยนต์เมื่อจำเลยขับรถยนต์ออกจากที่ดังกล่าวมาได้ประมาณครึ่งกิโลเมตรก็ติดหล่มข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ไม้ฟืนของกลางที่จำเลยรับจ้างบรรทุกรถยนต์มานั้นถูกเก็บกองอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดฐานเก็บหาไม้ฟืนซึ่งเป็นของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงยังไม่ขาดตอน เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยหลบหนีไปขณะพบเห็นเจ้าหน้าที่ แสดงว่าจำเลยทราบดีว่าไม้ฟืนของกลางอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยรับบรรทุกไม้ฟืนอันเป็นของป่าซึ่งมีผู้กระทำผิดนำมากองไว้ เพื่อจะนำออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเสียเลยทีเดียวโดยไม่ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขแล้วประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทคือ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ดังที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมาด้วย จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือนโดยไม่รอการลงโทษและไม่จ่ายสินบนนำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share