แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บทบัญญัติของกฎหมายเรื่องการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราหรือการคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่กรณีจะทำความตกลงยกเว้นหาได้ไม่ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีข้อหนึ่งมีข้อความว่า “เมื่อมีการหักทอนบัญชีเดินสะพัดและธนาคารได้เรียกร้องให้ลูกค้าชำระหนี้แล้ว ลูกค้าก็ยังคงยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นตามจำนวนที่ปรากฏในบัญชีเดินสะพัดจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ธนาคาร…และขอสละสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ในเรื่องการคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันผิดนัดขึ้นเป็นข้อต่อสู้ธนาคารด้วย”เป็นข้อสัญญาที่ตกลงยกเว้นบทกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อหักทอนบัญชีและเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้ว หากยังมีหนี้ต่อกับธนาคารโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องเพียงดอกเบี้ยธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีข้อความว่า การเบิกเกินบัญชีจะมากหรือน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้ก็ได้สุดแต่ธนาคารโจทก์จะพิจารณาเห็นสมควรไม่ใช่สัญญาที่มีเงื่อนไข ใช้บังคับได้ สัญญาค้ำประกันที่ไม่ระบุจำนวนหนี้ของลูกหนี้ก็มีผลใช้บังคับได้เมื่อหนี้ที่ค้ำประกันสมบูรณ์ ยกเว้นเรื่องการคิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากบัญชีเดินสะพัดได้เลิกแล้วเท่านั้น ผู้ค้ำประกันจึงต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกัน เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เท่านั้นที่ฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทุกคนต้องรับผิดน้อยกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและดอกเบี้ยจำนวน 42 ล้านบาทเศษ โดยให้จำเลยที่ 2 – ที่ 6 รวมรับผิดด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6ให้การว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตลอดจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อย ตกเป็นโมฆะ จำนวนหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไม่ถูกต้อง หนี้ขาดอายุความแล้ว สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะเพราะหนี้ที่ค้ำประกันไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 5 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นจึงสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชำระหนี้จำนวน 21 ล้านบาทเศษพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดจำนวน18 ล้านบาทเศษพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกาว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี (เอกสารหมาย จ.5) ข้อ 1 ซึ่งมีใจความสำคัญว่าการขอเบิกเกินบัญชีอาจจะมากหรือน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้ (9,000,000 บาท) ก็ได้ สุดแต่โจทก์จะพิจารณาเห็นสมควรเป็นเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น หาใช่เป็นเงื่อนไขอย่างที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ เพราะมิใช่ข้อความที่บังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน ดังนั้นสัญญาข้อ 1 จึงมีผลใช้บังคับ หาตกเป็นโมฆะไม่
ปัญหาข้อ 2 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าเป็นข้อสัญญาที่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติหรือหลักกฎหมายใดที่กำหนดให้ถือว่าสัญญาหรือนิติกรรมที่มีข้อความไม่ชัดแจ้ง หรือมีข้อความเคลือบคลุมสัญญาหรือนิติกรรมนั้นไม่มีผลใช้บังคับหรือตกเป็นโมฆะ เพราะข้อความในนิติกรรมหรือสัญญาที่ไม่ชัดแจ้งนั้นเป็นของธรรมดาที่พึงเกิดขึ้นกฎหมายจึงได้บัญญัติทางแก้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา10, 11 ฯลฯ ทั้งมิใช่เงื่อนไขบังคับก่อนอันจะสำเร็จหรือไม่สุดแต่ใจของลูกหนี้ตามมาตรา 152 ด้วย
ส่วนที่ฎีกาว่า ความในสัญญา ข้อ 4 ที่ว่า โจทก์มีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินตามบัญชีหรือไม่ก็ได้ เป็นเงื่อนไขและเป็นไปไม่ได้นั้น เห็นว่า ความในสัญญาข้อ 4มิใช่เงื่อนไขตามนัยที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว
สำหรับสัญญาข้อ 5 ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่าตกเป็นโมฆะนั้นมีความว่า “ลูกค้าขอให้สัญญาว่า เมื่อมีการหักทอนบัญชีเดินสะพัดและธนาคารได้เรียกร้องให้ลูกค้าชำระหนี้แล้ว ลูกค้าก็ยังคงยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นตามจำนวนซึ่งปรากฏในบัญชีเดินสะพัดจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ธนาคารตามที่กล่าวไว้ในสัญญาข้อ 3 และขอสละสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ในเรื่องการคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันผิดนัดขึ้นเป็นข้อต่อสู้ธนาคารด้วย” เห็นว่าแม้โจทก์จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อมีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีบัญชีเดินสะพัดที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ต่อไป หากยังมีหนี้ต่อกันโจทก์คงเรียกดอกเบี้ยตามธรรมดาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ปัญหาวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่า คู่กรณีจะทำความตกลงยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวคือ ยอมให้มีการเรียกดอกเบี้ยทบต้นต่อไปได้ แม้จะเลิกบัญชีเดินสะพัดระหว่างกันแล้วได้หรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราหรือการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั้น เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนคู่กรณีจะทำความตกลงยกเว้นหาได้ไม่ ดังนั้น สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 5 จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.7 ไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะมิได้ระบุจำนวนหนี้ที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิด ทั้งหนี้ของลูกหนี้ก็เป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันจะมิได้ระบุจำนวนหนี้ของลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดไว้ ก็หาทำให้สัญญาค้ำประกันนั้นไม่มีผลดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ดังจะเห็นได้ว่าแม้แต่หนี้ในอนาคตและหนี้มีเงื่อนไขก็อาจจะมีการค้ำประกันได้ส่วนหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามบัญชีเดินสะพัดและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น คงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ เว้นเฉพาะเรื่องการคิดดอกเบี้ยทบต้นหลังจากบัญชีเดินสะพัดได้เลิกแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันในหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามนัยที่กล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ระงับลงตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2518 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยทบต้นรวม 20,621,205.88 บาท หลังจากนี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้ตกลงให้งดคิดดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 มีนาคม2524 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดตามหนังสือทวงถาม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น คดีนี้เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,621,205.88 บาท และในเงินจำนวนดังกล่าวนี้ให้จำเลยที่ 6ร่วมรับผิดเพียง 18,037,439.24 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4และจำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน20,621,205.88 บาท และ 18,037,439.24 บาท ตามลำดับ นับแต่วันที่31 มีนาคม 2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”