คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4082/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ (7) ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้าได้นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการค้าชำระภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ยื่นแบบแสดงรายการค้าในปีที่ล่วงมาแล้ว กล่าวคือในปีที่ถึงกำหนดชำระภาษีการค้าแล้ว และต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมาตรวจสอบพบในภายหลัง เจ้าพนักงานประเมินจึงจะมีอำนาจกำหนดรายรับขึ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 87 ทวิ (7)เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้านั้นได้ มิใช่เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อจะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าในปีที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้า ทั้งในขณะเกิดเหตุคดีนี้ พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529ซึ่งบัญญัติให้เพิ่มเติม มาตรา 86 เบญจ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำของผู้ประกอบการค้าบางประเภทไว้เป็นการล่วงหน้าได้คราวละไม่เกิน 24 เดือนยังไม่ใช้บังคับดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลของโจทก์โดยกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้เป็นการล่วงหน้า จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 155,491.45 บาท โดยถือเอาการกำหนดรายรับขั้นต่ำประจำเดือนล่วงหน้าและให้เสียภาษีการค้าจากยอดรายรับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 120,000 บาท การประเมินดังกล่าวจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คณะกรรมการให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ การกระทำของเจ้าพนักงานประเมิน เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบหลักฐานและเอกสารการยื่นแบบแสดงรายการการค้าของโจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2525 ถึงเดือนเมษายน 2529 แล้วปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าต่ำกว่ารายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าจากยอดรายรับที่โจทก์ยื่นขาดไว้พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 155,491.45 บาท การประเมินของเจ้าพนักงานก็ดี คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ดีชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.8 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย จ.3 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่เพียงประการเดียวว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 กำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์ไว้ล่วงหน้าแล้วนำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87, 87 ทวิ (7) แล้วประเมินให้โจทก์ชำระนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ (7) บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป หรือผู้ประกอบการค้าหรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแทนผู้ประกอบการค้าไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินหรือไม่สามารถแสดงหลักฐานเพื่อการคำนวณภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการค้าชำระภาษีการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าในปีที่ล่วงมาแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือในปีที่ถึงกำหนดชำระภาษีการค้าแล้วและต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมาตรวจสอบพบในภายหลัง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดรายรับขึ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 87 ทวิ (7) เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้านั้นได้ มิใช่เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อจะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าในปีที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้า ทั้งในขณะเกิดเหตุคดีนี้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ซึ่งบัญญัติให้เพิ่มเติมมาตรา 86 เบญจ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำของผู้ประกอบการค้าบางประเภทไว้เป็นการล่วงหน้าได้คราวละไม่เกิน 24 เดือนยังไม่ใช้บังคับ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของโจทก์โดยกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้เป็นการล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share