แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 นั้น ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และที่ดินประเภทนี้ผู้ครอบครองปรปักษ์ก็จะนำเอาระยะเวลาการครอบครองซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาที่ห้ามโอนกรรมสิทธิ์มารวมคำนวณเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 มิได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 20136 ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 20136 ตามคำร้องขอ โดยทางครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382หรือไม่ ปรากฏตามข้อความที่ตราไว้ในโฉนดเลขที่ 20136 เอกสารหมายร.1 ว่าที่ดินแปลงนี้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ (นายประยงค์) ได้รับตามพระราชบัญญัติ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิของผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จะต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติ ฉบับนี้กำหนดไว้ มาตรา 12 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี” ปรากฏว่านายประยงค์ได้รับโฉนดเลขที่ 20136 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม2517 ระยะเวลาห้ามโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีอยู่จนถึงวันที่ 21สิงหาคม 2522 ผู้ร้องจะนำระยะเวลาก่อนวันที่ 21 สิงหาคม 2522มาเป็นระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 21เมษายน 2529 แม้จะฟังว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 20136โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนถึงวันยื่นคำร้องขอ ผู้ร้องก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน