แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกจำเลยตั้งกรรมการสอบสวน และจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ตามข้อบังคับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2530 เพื่อรอฟังผลการสอบสวน ต่อมาวันที่20 มกราคม 2531 จำเลยออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันแรกที่พักงานความเป็นลูกจ้างและนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างในช่วงนับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2530 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2531
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาด ค่าจ้างในระหว่างพักงาน และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นเงินรวม 241,160 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า จ่ายเงินบำเหน็จให้ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในระหว่างพักงานและไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม2530 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2531อันเป็นวันที่จำเลยออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัยพนักงานพุทธศักราช 2521 ตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 29ให้อำนาจจำเลยสั่งพักงานพนักงานผู้มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนไว้ก่อนได้ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ถูกจำเลยสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและถูกสั่งให้พักงานแล้ว และต่อมาจำเลยได้มีคำสั่งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่ ลอ.17/2531 ตามเอกสารหมาย ล.5 ให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2530 อันเป็นวันแรกที่จำเลยได้มีคำสั่งให้พักงานเป็นต้นไป กรณีจึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2530 ความเป็นลูกจ้างและนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดตั้งแต่วันนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างตามฟ้องจากจำเลยได้”
พิพากษายืน